สรุปข้อมูลบริษัท UBER : UBER เกิดจากการถูก taxi ปฏิเสธ
คำว่า “สตาร์ทอัพ” หากย้อนไปสัก 2-3 ปีก่อน มันคือภาพชวนฝันที่ใคร ๆ ก็เชื่อว่านี่คืออนาคตของโลก แต่เมื่อเวลาผ่านไป คำว่า “สตาร์ทอัพ” ดูเหมือนจะมาคู่กับคำว่า “ขาดทุน” เพราะความจริงเริ่มปรากฎแล้วว่าแม้สตาร์ทอัพเหล่านี้จะสามารถหาลูกค้าได้มากมาย แต่การหากำไรดูจะเป็นเรื่องที่ยากกว่าเยอะ
ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการ IPO เข้าตลาด ธุรกิจเปลี่ยนโลกเหล่านี้ต่างก็มีความฝันอันสูงสุดว่าจะเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้นให้ได้ เพื่อให้นักลงทุนที่ใส่เงินเข้ามาตั้งแต่แรก ๆ ได้ผลกำไรเป็นกอบเป็นกำเสียที (จากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น) แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย กำไรยังไม่มี รายได้ยังไม่แน่นอน จะเอาบริษัทเข้าตลาดได้ยังไงจริงไหม ?
แต่มีอยู่รายหนึ่งที่ทำได้แล้วแบบสด ๆ ร้อน ๆ นั่นคือ UBER
UBER คือแอปพลิเคชั่นที่ไว้ใช้เรียกรถแท็กซี่ ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2009 โดย Travis Kalanick และ Garrett Camp สองนักธุรกิจที่ไปงานประชุมในเมืองปารีสด้วยกัน แต่กลับเจอปัญหาสามัญอย่างการไม่สามารถเรียกรถแท็กซี่กลับที่พักได้ ทั้งคู่จึงระดมสมองและทำ UBER ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาซะเลย
โดยโมเดลของ UBER ก็คือ แทนที่ผู้ใช้งานจะต้องเสี่ยงดวงเรียกแท็กซี่ที่ไม่รู้ว่าจะไปตามที่เราต้องการไหม (แก๊สหมดครับ ส่งรถครับ ไกลครับ ฯลฯ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกรถในต่างแดนที่เราอาจสื่อสารกับคนขับไม่รู้เรื่อง ก็เปลี่ยนมาเรียกแท็กซี่ผ่าน UBER แทน ผู้โดยสารเพียงแค่บอกสถานที่ คนขับก็เลือกรับเฉพาะที่อยากไป วินวินทั้งสองฝ่าย ส่วน UBER ก็เก็บค่าโดยสารที่แพงกว่าปกติเล็กน้อยเพื่อเป็นกำไรเข้ากระเป๋าตัวเองไป และนอกจากจะรับส่งคนแล้ว UBER ยังขยายธุรกิจไปสู่การรับส่งอาหารด้วยในชื่อ UBER Eat
เป็นโมเดลง่าย ๆ ที่ทำให้บริษัทมีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านเหรียญ และกลายเป็นสตาร์ทอัพแรก ๆ ที่จดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นได้สำเร็จเมื่อพฤษภาคมปี 2019
งบการเงิน UBER
ปี 2016
รายได้ 3,845 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 4,215 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ -370 ล้านเหรียญ
ปี 2017
รายได้ 7,932 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 11,965 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ -4,033 ล้านเหรียญ
ปี 2018
รายได้ 11,270 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 10,273 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ 997 ล้านเหรียญ
แต่ด้วยความเป็นธรรมชาติของธุรกิจสตาร์ทอัพ เราจะเห็นว่างบกำไรขาดทุนของ UBER นั้นทำให้นักลงทุนเสียวสันหลังไปตาม ๆ กัน ปี 2016 ขาดทุนว่าเยอะแล้ว แต่ปี 2017 นั้นขาดทุนเกือบครึ่งเมื่อเทียบกับรายได้รวม ถึงแม้บริษัทจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดที่เน้นการหาลูกค้าใหม่ไว ๆ ย่อมทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นและทำให้ขาดทุนได้ไม่ยาก
ซึ่งความกลัวนี้ก็เห็นได้จากตอนที่ UBER เข้าตลาดหุ้นที่ราคา 45 เหรียญ เพราะนับจากวันที่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ราคาหุ้นก็ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดราคาเหลืออยู่ที่ราว ๆ 30 เหรียญ คิดเป็นการลดลงกว่า 1/3 นั่นอาจเป็นสัญญาณความกังวลที่นักลงทุนมีต่อผลประกอบการของ UBER
และถึงแม้ UBER จะขยายธุรกิจไปต่างประเทศได้เร็วแค่ไหน แต่ตัวบริษัทเองก็ยังมีคู่แข่งเกิดขึ้นมาเทียบชั้นเสมอ ๆ ถ้าเอาที่เห็นได้ชัดที่สุด ในไทยเองก็มี Grab เข้ามาเป็นคู่แข่งท้าชนโดยตรง และในประเทศอื่น ๆ ก็มีสตาร์ทอัพที่มีโมเดลธุรกิจคล้ายกับ UBER ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ตราบใดที่บริษัทยังใช้กลยุทธ์หาลูกค้าเพิ่มขึ้นด้วยค่าใช้จ่ายทางการตลาดหนัก ๆ (เช่น ลดราคา หรือให้ส่วนลด) มันก็ยากที่จะรู้ได้ว่าเมื่อไหร่ UBER จะมีกำไรที่สม่ำเสมอ ไม่ใช่เหวี่ยงไปมาเหมือนคนขับแท็กซี่อารมณ์ร้อน
นอกจากนั้น Travis Kalanick ผู้ก่อตั้งของบริษัทเองยังขายหุ้น UBER ออกมาเป็นมูลค่ากว่า 700 ล้านเหรียญ แถมยังเอาเงินที่ได้ไปตั้งธุรกิจจัดส่งอาหารแข่งกับ UBER Eat เสียอีก การที่ผู้บริหารขายหุ้นในบริษัทของตัวเองมาก ๆ แบบนี้ยิ่งไม่ใช่สิ่งที่นักลงทุนชอบเสียเท่าไหร่ โดยเฉพาะการขายหุ้นจากผู้ก่อตั้ง เพราะมันอาจสื่อถึงปัญหาบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในบริษัทก็ได้
UBER อาจประสบความสำเร็จในฐานะสตาร์ทอัพหมื่นล้านตัวแรก ๆ ที่ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหุ้น แต่ในแง่ของการลงทุน เส้นทางของกิจการที่ดีและมีกำไรสม่ำเสมอนั้นยังอีกยาวไกลนัก
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
เอกสารอ้างอิง
อดีต CEO UBER เทขายหุ้นกว่า 700 ล้านดอลลาร์ : ceoblog.co
3 ปัจจัยทำราคาหุ้น Uber ไม่ร้อนแรงสมฉายา Unicorn แห่ง Ride-Sharing : brandbuffet.in.th
งบการเงิน UBER : finance.yahoo.com
Travis Kalanick ชายผู้ปฏิวัติอุตสาหกรรมขนส่ง ด้วยสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกนาม Uber : startitup.in.th
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :