ร่วมมืออย่างไรไม่ให้ล่มจม เคล็ดลับ 5 ประการในการจับมือทำธุรกิจกับแบรนด์อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ
ในโลกการทำธุรกิจที่ทุกคนล้วนแข่งขันกัน ยังมีการร่วมมือระหว่างแบรนด์ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ และหากเลือกแบรนด์มาร่วมมือกันได้อย่างเหมาะสม กิจการทั้งสองก็ยิ่งประสบความสำเร็จเท่าทวีคูณ ตัวอย่างแบรนด์ที่จับมือกันทำธุรกิจและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เช่นการร่วมมือกันของ Doritos และ Taco Bell, Gucci และ Disney หรือ Nike Air Jordan กับ Dior [1]
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่ร่วมมือกันแล้วจะประสบความสำเร็จ ในบางกรณี ความร่วมมือที่ดีมาอย่างยาวนานก็อาจพังทลายลง เมื่อแบรนด์ที่ร่วมมือด้วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทรยศ เช่นในกรณีของ Heinz และ McDonald’s ที่แยกทางกันไป จบความร่วมมือที่มีมานานร่วม 40 ปี เพราะ Heinz หันไปร่วมมือกับคู่แข่งอย่าง Burger King [2] ในที่นี้ ลงทุนศาสตร์ขอนำเสนอเคล็ดลับ 5 ประการที่จะส่งเสริมให้การร่วมมือกันระหว่างแบรนด์เป็นไปอย่างราบรื่น ดังนี้ [3, 4]
เคล็ดลับข้อแรก ในการรวมแบรนด์ใด ๆ ก็ตาม ต้องแน่ใจก่อนว่า คุณค่าและแนวทางที่ทั้งสองแบรนด์ยึดถือมีความสอดคล้องกัน หากมีแนวคิดและความเชื่อที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว การรวมแบรนด์ก็อาจเกิดขึ้นได้ยาก และหากว่ามีการรวมกันเกิดขึ้น แม้จะเป็นช่วงเวลาที่สั้นเพียงใดก็ตาม หรือเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นใดก็ตาม ภาพจำที่ผู้คนมีต่อแบรนด์ย่อมเปลี่ยนไป และกลายเป็นการทรยศความไว้ใจของผู้บริโภคไปในที่สุด
เคล็ดลับข้อต่อมา คือการอย่าหลีกเลี่ยงที่จะรวมแบรนด์กับธุรกิจที่มีลักษณะคล้ายตนเอง แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว เมื่อคิดถึงการจับมือร่วมกันระหว่างแบรนด์อื่น ผู้ทำธุรกิจจะพยายามหลีกเลี่ยงการรวมแบรนด์กับกิจการที่คล้ายกับตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดการเปรียบเทียบ หรือเกิดความรู้สึกว่ากำลังมีการแข่งขัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การร่วมมือกับผู้ที่ทำธุรกิจคล้ายกับตนเองกลับเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างมิตรภาพในแวดวงธุรกิจให้เกิดขึ้น และทำให้ได้เรียนรู้ข้อดีและข้อเสียจากแบรนด์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันอีกด้วย
เคล็ดลับข้อที่สาม คิดถึงผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ให้ครบถ้วน ทั้งลูกค้าที่รออุดหนุน และผู้ค้าปลีกที่รอรับสินค้าไปกระจายขายต่อ เมื่อมีการจับมือระหว่างแบรนด์ พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเราว่าลูกค้าต้องการที่จะเห็นอะไรจากการจับมือกันครั้งนี้ ผู้ค้าปลีกที่รอรับสินค้ามาขายต่อต้องการการประชาสัมพันธ์แบบใด บรรจุภัณฑ์แบบไหน การคิดเผื่อความต้องการของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ทำให้การร่วมมือกันระหว่างแบรนด์ทำประโยชน์ให้กับทุกคนอย่างครบถ้วน
เคล็ดลับข้อที่สี่ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันให้มากที่สุด ทั้งข้อดีและข้อเสีย จุดเด่นและจุดด้อย เมื่อมีการจับมือกันระหว่างแบรนด์ ทั้งสองฝ่ายจะได้เรียนรู้ระหว่างกัน และนำเอาบทเรียนที่ได้มาใช้ในธุรกิจของตนเองด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกัน ข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายจะกลายเป็นคำตอบที่นำทางการจับมือระหว่างกันในครั้งนี้ แม้จะเป็นความร่วมมือเพียงชั่วคราว ก็ควรแน่ใจว่าข้อตกลงที่ออกมาในท้ายที่สุดเกิดจากการไตรตรองของทั้งสองแบรนด์อย่างถี่ถ้วนโดยแท้จริง
เคล็ดลับข้อสุดท้าย อย่าใช้ความเชื่อใจลอยลมโดยไม่ทำสัญญาเด็ดขาด การมีความร่วมมือกันระหว่างสองแบรนด์ไม่อาจอาศัยความเชื่อใจหรือสัญญาปากเปล่า ข้อตกลงใดก็ตามควรถูกบันทึกลงในลายลักษณ์อักษร อย่าเชื่อคำกล่าวอ้างที่ไม่มีผลทางกฎหมาย ขอให้ตัดสินใจและทำข้อตกลงอย่างรอบคอบทุกครั้งที่คิดจะจับมือกัน
ความร่วมมือกันระหว่างแบรนด์อาจเกิดขึ้นได้เสมอ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะจับมือกับใครก็ตาม ควรต้องระวังไม่ให้ภาพลักษณ์ที่สั่งสมมาถูกทำลายลง หากไม่คิดคำนึงให้ถี่ถ้วน ไม่รับฟังเสียงของผู้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจับมือในครั้งนี้ ความร่วมมือที่คิดว่าดีก็อาจกลายเป็นความล่มจมได้ในชั่วพริบตา
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
[1] Advertising Week. (March 16, 2023). 16 of the Best Brand Collaborations of All Time. Retrieved from https://advertisingweek.com/16-best-brand-collaborations-all-time
[2] Seb Joseph. (October 28, 2013). McDonald’s ends 40-year deal with Heinz. Retrieved from https://www.marketingweek.com/mcdonalds-ends-40-year-deal-with-heinz
[3] Lynn Power. (July 30, 2021). 5 Tips to Ensure You’ll Have Successful Brand Collaborations. Retrieved from https://www.entrepreneur.com/science-technology/5-tips-to-ensure-youll-have-successful-brand-collaborations/377942
[4] Kerry Benjamin. (August 19, 2019). Five Tips For Collaborating With Other Brands. Retrieved from https://www.forbes.com/sites/forbeslacouncil/2019/08/19/five-tips-for-collaborating-with-other-brands/?sh=59b8ca73ddbd
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :