นักโซเชียลทุกคนคงไม่มีใครไม่รู้จักแอพนกสีฟ้า หรือ twitter โซเชียลมีเดียที่เน้นการเขียนสเตตัสสั้นๆ แสดงความเป็นตัวตน มากกว่าการบอกเล่าเรื่องราวยาวๆ แบบเฟสบุ๊ค Twitter ถือเป็นมวยรองในตลาดโซเชียลมีเดียมาเป็นเวลานาน ด้วยแผนการสร้างรายได้ที่ไม่ค่อยชัดเจน ทำให้เจ้านกฟ้าหารายได้ได้ไม่ดีมากนัก จนกระทั่งไตรมาสที่ 4 ในปี 2017 ที่ผ่านมา Twitter สามารถพลิกกลับมาสร้างกำไรได้เป็นไตรมาสแรก หลังจากทำธุรกิจมายาวนาน 11 ปี
Twitter, Inc. หรือ TWTR เป็นหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ที่ตลาด NYSE มาตั้งแต่ปี 2013 โดยช่วงต้น ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปสูงถึงเกือบ 70 เหรียญต่อหุ้น ก่อนจะตกลงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ด้วยผลประการที่ยังไม่มีกำไรและจำนวนผู้เล่นที่ขึ้นๆ ลงๆ กดดันราคาหุ้นจนตกมาถึงแถว 10 เหรียญต่อหุ้น ก่อนที่ราคาจะฟื้นตัวกลับไปอยู่ที่ 35.35 เหรียญในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา
แต่ตอนนี้ Twitter กลับมาทำกำไรได้แล้ว
ในไตรมาส 4 ปี 2017 ที่ผ่านมา TWTR รายงานรายได้ 732 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 2% เทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 24% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งถือว่ารายได้ดังกล่าวสูงสุดกว่ารายได้ประมาณการณ์ที่นักวิเคราะห์ที่ประมาณไว้สูงที่สุดที่ประมาณ 686 ล้านเหรียญ ในขณะที่กำไรของบริษัทพลิกกลับมาเป็นบวกเป็นครั้งแรกที่ 91 ล้านเหรียญ เทียบกับขาดทุน 167 ล้านเหรียญในช่วงเดียวกันของปีก่อน และขาดทุน 21.1 ล้านเหรียญในไตรมาสก่อนหน้า กำไรในไตรมาสนี้จึงถือเป็นกำไรไตรมาสแรกในประวัติศาสตร์ของ TWTR ถึงแม้ว่าในภาพรวมเต็มปี 2017 บริษัทจะยังรายงานเป็นขาดทุนรวมที่ 108.1 ล้านเหรียญ แต่ก็ลดลงมาจากขาดทุน 456.9 ล้านเหรียญในปีก่อนหน้า ซึ่งถือว่ามีแนวโน้มที่ดีทีเดียว
ความน่าสนใจของการรายงานครั้งนี้อยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงของ Twitter ที่อาจจะสะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่อาจจะมีแนวโน้มเปลี่ยนไป โดยผู้เล่น twitter มีการเข้าถึงโฆษณาสูงขึ้นถึง 75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และส่งผลให้ต้นทุนต่อการเข้าถึงโฆษณา (cost per engagement; CPE) ต่ำลงถึง 42%
ในขณะที่จำนวนผู้เล่นคงสถานะรายเดือน (monthly active usage; MAU) เพิ่มขึ้น 4% จากช่วงปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 330 ล้านคน แต่ถ้าเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าจะเห็นไม่เห็นถึงการเติบโตเท่าไหร่ เพราะมีการเร่งรัดกำจัดผู้เล่นปลอม และบัญชีแสปมที่อยู่ในระบบ อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เล่นคงสถานะรายวัน (daily active usage; DAU) เพิ่มขึ้นสูงถึง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า ทำให้ไตรมาสนี้มีการเพิ่มขึ้นของ DAU ในระบบตัวเลขสองหลักมาเป็นไตรมาสที่ 5 แล้ว
ความสำเร็จครั้งนี้หลักๆ มาจากการบริหารงานของ TWTR ที่ดีมากขึ้นที่มีการโฟกัสการลงโฆษณาและหารายได้มากขึ้น หลังจากที่ช่วงแรกในการทำโซเชียลมีเดียขึ้นมามีระบบการลงโฆษณาที่ไม่ชัดเจนมากนัก ทำให้แบรนด์ต่างๆ เองต่างก็ไม่กล้าที่จะลงเงินเข้ามามาก และอีกส่วนหนึ่งก็อาจจะเกี่ยวข้องกับการที่เฟสบุ๊คเองพยายามปรับสภาพแวดล้อมในการเล่นให้ผู้เล่นเห็นเพจน้อยลง ส่งผลโดยตรงให้ CPE ของเฟสบุ๊คมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่างกับทวิตเตอร์ที่ในปัจจุบันมีจำนวนผู้เล่นเพิ่มมากขึ้น แต่ CPE มีแนวโน้มลดลง
คำถามที่น่าสนใจที่สุดคือการที่ทวิตเตอร์เติบโตดีขึ้นในครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของเฟสบุ๊คหรือไม่ หรือเป็นเพียงการพลิกฟื้นของกิจการภายในเท่านั้น
โลกหมุนไว แต่อย่างไรก็ต้องยินดีกับสาวกเจ้านกฟ้าด้วย คงต้องเปิดแชมเปญฉลองกันเสียหน่อย หลังจากที่สร้างกำไรได้เป็นครั้งแรกหลังจากรอคอยมาถึง 11 ปี
เชียร์ !
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :