เศรษฐกิจ

สรุปวิกฤตค่าเงินปอนด์ : Black Wednesday วันพุธแห่งฝันร้ายของธนาคารอังกฤษ

สรุปวิกฤตค่าเงินปอนด์ : Black Wednesday

สรุปวิกฤตค่าเงินปอนด์ : Black Wednesday วันพุธแห่งฝันร้ายของธนาคารอังกฤษ

 

ปกติเราอาจเคยได้ยินแต่ Black Monday หรือวันจันทร์ทมิฬที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงลงไปกว่า 22% เมื่อปี 1987 แต่กับเหตุการณ์วันพุธทมิฬ คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1992 ที่ประเทศอังกฤษ ถ้ายังนึกไม่ออก เคยได้ยินฉายาอย่างเช่น “ชายผู้ทำลายธนาคารอังกฤษ” มาบ้างไหม ? คิดว่าน่าจะเริ่มคุ้นๆ กันบ้างแล้ว เพราะนี่คือวิกฤตทางการเงินที่ทำให้ จอร์จ โซรอส ทำเงินได้มากกว่า 1 พันล้านเหรียญภายในระยะเวลาสั้นๆ

 

วิกฤตส่วนใหญ่อาจมีแต่ความเจ็บปวด แต่เหตุการณ์ Black Wednesday ไม่ใช่แบบนั้น อย่างน้อยโซรอสก็ทำเงินได้นับพันล้านและสร้างชื่อเสียงในฐานะเทรดเดอร์จากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่แน่นอน มันก็มาพร้อมกับชื่อเสียจากคนที่มองว่าเขาคือต้นเหตุแห่งวันพุธทมิฬเช่นกัน

 

แล้วเกิดอะไรขึ้นกับอังกฤษกันหละ เหตุใดประเทศที่มั่นคงทางการเงินอันดับต้นๆ ของโลกจึงพ่ายให้กับนักเก็งกำไรชาวฮังการีผู้นี้ได้

 

ยูโรโซน

 

จะว่าไปเหตุการณ์นี้มีจุดเริ่มต้นที่คล้ายกับวิกฤตปี 40 ของไทยเราไม่มีผิด เริ่มจากอังกฤษทำการตรึงค่าเงินปอนด์ซึ่งเป็นสกุลเงินของอังกฤษไว้ โดยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่เรียกว่า ERM หรือ Exchange Rate Mechanism โดยตรึงค่าเงินปอนด์ไว้กับสกุลเงินหลักในกลุ่มประเทศแถบยุโรปด้วยกัน (ตรึงไว้ร่วมกับหลายๆ สกุลเงิน แต่ให้น้ำหนักกับเงินมาร์คเยอรมันมากที่สุด) แล้วกำหนดกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้มากหรือน้อยเกินกว่าที่กำหนด

 

การตรึงอัตราแลกเปลี่ยนนี้คล้ายๆ กับสิ่งที่ประเทศไทยตรึงค่าเงินบาทไว้กับดอลลาร์ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่สาเหตุของการใช้ระบบ ERM ของประเทศอังกฤษจะต่างจากไทยเล็กน้อย อังกฤษไม่ได้ตรึงค่าเงินเพียงเพื่อเสถียรภาพด้านอัตราแลกเปลี่ยน แต่พวกเขายังทำเพื่อประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้

 

เป้าหมายคือการรวมกลุ่มประเทศให้กลายเป็น EU หรือยูโรโซนอย่างที่เรารู้จัก

 

แต่ปัญหามันเกิดตรงที่การตรึงค่าเงินนี้เอง จริงอยู่ว่าการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนจะสร้างเสถียรภาพด้านเงินตราไว้ได้ดีมาก แต่ชนวนของปัญหาค่อยๆ ติดไฟขึ้นที่ประเทศเยอรมนี . . . จะว่าปัญหาก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะเยอรมนีก็เพียงแค่เพิ่งรวมชาติเสร็จ (ระหว่างเยอรมนีตะวันออกและตะวันตก) และต้องการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเสียใหม่ ซึ่งทำให้การใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นลิบลิ่ว

 

การใช้จ่ายนี้เองที่ทำให้เยอรมนีมีความ “เนื้อหอม” มากกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบยุโรป เงินตรามากมายหลั่งไหลเข้าดินแดนแห่งเบียร์จนทำให้เงินมาร์คเป็นที่ปรารถนา แล้วเงินปอนด์อังกฤษหละ ? ตอนนั้นประเทศอังกฤษกำลังแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศอย่างสนุกสนาน เกิดภาวะเงินเฟ้อ การค้าขายซบเซา ไม่มีใครอยากได้เงินของประเทศที่กำลังเหี่ยวเฉาหรอก

 

ดังนั้น เงินปอนด์จึงค่อยๆ อ่อนปวกเปียกอย่างช้าๆ แต่ด้วยระบบอัตราแลกเปลี่ยน ERM ทำให้อังกฤษจำเป็นต้องตรึงค่าเงินเอาไว้ เมื่อถึงจุดที่ค่าเงินอ่อนมากเกินไป พวกเขาจึงต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เงินปอนด์กลับมาอยู่ในกรอบที่อยากให้เป็น อย่างแรกคือขึ้นดอกเบี้ย และไม้ตายที่สอง คือการซื้อเงินปอนด์ในตลาดไว้กับตัวให้ได้มากที่สุด

 

จุดนี้เองที่โซรอสเริ่มได้กลิ่นของหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

กำไรพันล้านเหรียญ

 

สมมติเราเป็นนักลงทุนคนหนึ่ง คนธรรมดาๆ ที่เพียงแต่รู้ข่าวว่ามีสินทรัพย์อยู่ตัวหนึ่งในตลอดที่กำลังมีคนซื้ออยู่ และไม่ว่ายังไงคนๆ นั้นก็จะซื้อมันไปเรื่อยๆ หากเราเป็นนักลงทุนผู้มีเหตุผล เราย่อมทำทุกทางเพื่อหาสินทรัพย์นั้นมาขายให้ได้ หรือจะให้ดีก็คือยืมสินทรัพย์นั้นๆ จากคนอื่นมาขายก่อนเสียเลย

 

นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเงินปอนด์ของอังกฤษ ด้วยความที่รัฐบาลต้องทำทั้งการขึ้นดอกเบี้ยและซื้อเงินปอนด์เพื่อรักษาระดับของอัตราแลกเปลี่ยน โซรอสมองแล้วว่ายังไงอังกฤษก็จะต้องยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนแบบ ERM เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว อังกฤษจะต้องซื้อเงินปอนด์เพื่อรักษาค่าเงินเอาไว้จนไม่มีเงินเหลือในคลัง สิ่งที่เขาทำคือ การไปเร่งวิกฤตนี้ให้เกิดเร็วขึ้น ด้วยการชอร์ท ชอร์ท และชอร์ทเงินปอนด์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

เพื่อให้เห็นภาพ สมมติรัฐบาลอังกฤษมีเงินงบประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์เพื่อใช้ซื้อเงินปอนด์ของตัวเอง และในตอนนั้น 1 ปอนด์แลกเป็นสกุลเงินกลางได้ 2.50 หน่วย โซรอสวิเคราะห์แล้วว่ายังไงอังกฤษจะต้องซื้อเงินปอนด์ต่อไปได้อีกไม่นานก็ต้องหยุด เพราะไม่งั้นเงินจะหมดเอา เขาจึงไปยืมเงินปอนด์คนอื่นมาขายให้กับอังกฤษ นั่นแปลว่า เงินแต่ละปอนด์ที่ขายให้กับอังกฤษ โซรอสจะได้เงินกลับมาคือ 2.50 หน่วย

 

อย่างที่กล่าวไปในตอนต้น เศรษฐกิจของอังกฤษยังไม่สู้ดีนัก การค้าซบเซา ไม่มีใครสนใจเงินปอนด์เท่าไหร่ โดยธรรมชาติจริงๆ แล้วเงินปอนด์ควรจะอ่อนตัวกว่านี้ เงิน 1 ปอนด์อาจจะเท่ากับ 2 หน่วยสกุลเงินกลางก็ได้ แต่ที่อัตราแลกเปลี่ยนยังเป็น 1 ปอนด์เท่ากับ 2.50 หน่วย ก็เพราะรัฐบาลคอยประคบประหงมค่าเงินราวกับไข่ในหิน

 

แล้วอะไรจะเกิดขึ้นถ้าอังกฤษไม่สามารถซื้อเงินปอนด์ได้อีกต่อไป ? แน่นอนพวกเขาต้องปล่อยให้เงินปอนด์ไหลไปตามยถากรรม เงิน 1 ปอนด์อาจกลายเป็น 2 หน่วยสกุลเงินกลางก็ได้ หากเป็นเช่นนั้น โซรอสผู้ “ยืม” เงินปอนด์คนอื่นมาขายให้กับอังกฤษและได้สกุลเงินกลางมา 2.50 หน่วยในตอนแรก ก็จะซื้อเงินปอนด์ได้ในราคาเพียง 2 หน่วยสกุลเงินกลาง เพื่อ “คืน” เงินปอนด์ที่ยืมมาให้กับคนที่เขายืมตอนแรก นี่เองคือสิ่งที่เรียกว่า “การชอร์ท”

 

ซึ่งในความจริงแล้ว มันไม่ได้มีการเดินดุ่มๆ แล้วหิ้วกระเป๋าเงินเหมือนภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ แต่โซรอสใช้เครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่าตราสารอนุพันธ์ ที่เป็นเพียงแค่สัญญากระดาษ (บางทีไม่มีกระดาษด้วยซ้ำ เป็นแค่ตัวเลขในคอมพิวเตอร์) แต่คิดกำไรขาดทุนเป็นเงินสด สิ่งที่เขาทำจึงเปรียบได้กับการ “เร่ง” ให้ทุกอย่างเกิดไวขึ้น แต่เดิมอาจมีคนขายเงินปอนด์แบบขำๆ วันละไม่กี่ร้อยล้านเหรียญ แต่พอโซรอสเข้ามาชอร์ทแบบขำๆ ทีเดียวก็อาจสะเทือนไปทั้งตลาดได้

 

ท้ายที่สุด ธนาคารอังกฤษก็ต้องหยุดพยายามอันไร้ความหวังของตัวเองที่จะพยุงค่าเงินปอนด์เอาไว้ จึงยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนแบบ ERM ในวันพุธที่ 16 กันยายน 1992 และปล่อยให้เงินปอนด์เคลื่อนไหวไปสู่จุดที่มันควรจะเป็น พร้อมกับกำไรราวๆ 1-2 พันล้านเหรียญที่โซรอสทำได้จากวันพุธอันสดใสที่เรียกว่า Black Wednesday

 

คนเก่งหรือคนร้าย

 

ราวกับว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤตจะต้องมีคนร้ายที่รับผิดชอบผลการกระทำที่เกิดขึ้น และนักเก็งกำไรมักจะถูกมองเป็นผู้ร้ายเสมอ ในด้านหนึ่ง โซรอสก็ถูกหลายคนตั้งฉายาว่าเป็น “ชายผู้ที่ทำลายธนาคารอังกฤษ” หรือมองเขาเป็นนายทุนหน้าเลือดที่ไม่สนว่าประเทศที่เขาไปสูบเลือดนั้นจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร แต่ถึงอย่างนั้น บางคนก็มองว่าโซรอสเป็นเพียงแค่หนึ่งในนักลงทุนที่เห็นโอกาส และคงไม่ได้มีแต่เขาแน่ๆ ที่ชอร์ทเงินปอนด์ หากเราเห็นโอกาสอยู่ตรงหน้า มีใครบ้างหละที่จะปฏิเสธไม่เล่นไปตามเกมที่กำลังเดินอยู่

 

วิกฤตครั้งนี้มันอาจไม่ได้มีคนร้ายหรือคนดี มันเป็นเพียงแค่ข้อจำกัดทางด้านระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้เกิดวิกฤต ลองคิดดูว่า หากประเทศอังกฤษตอนนั้นไม่ได้มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ การค้าขายยังทำได้ดี วิกฤตมันก็คงไม่เกิด คนร้ายจึงอาจไม่ใช่ทั้งโซรอสหรือรัฐบาลอังกฤษที่ดันทุรังซื้อเงินปอนด์เพื่อพยุงค่าเงิน

 

มันเป็นแค่ความผิดพลาดบทหนึ่งที่รอให้เราพัฒนาต่อก็เท่านั้นเอง

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

เอกสารอ้างอิง
Black Wednesday : investopedia.com
UK Exchange Rate Mechanism Crisis 1992 : econ.economicshelp.org
หนังสือ Soros: The Life, Ideas, and Impact of the World’s Most Influential Investor

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน