เศรษฐกิจ

สรุปวิกฤต Brexit : ระเบิดเวลาลูกใหญ่ของเศรษฐกิจโลก

สรุปวิกฤต Brexit

สรุปวิกฤต Brexit : ระเบิดเวลาลูกใหญ่ของเศรษฐกิจโลก

 

Brexit คือคำศัพท์ใหม่ที่ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2016 เมื่ออังกฤษมีการทำประชามติกับคนในประเทศว่าอยากจะออกจากกลุ่มยูโรโซนอันเป็นปึกแผ่นกันแค่ไหน ซึ่งแน่นอนว่าผลที่ออกมาคือคนโหวตว่าอยากออกมากกว่าอยู่ต่อ Brexit หรือ British + Exit เฉือนชนะ Bremain หรือ British + Remain ไปด้วยอัตราส่วนคะแนน 51.9 ต่อ 48.1 เปอร์เซ็นต์

 

ถึงแม้ว่าจะเป็นคะแนนที่เรียกว่าฉิวเฉียด ในประเด็นที่ละเอียดอ่อนมากๆ แต่เพื่อความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การลาออกอังกฤษจาก EU หรือที่เรียกว่า Brexit จึงได้เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่ปี 2016

 

Brexit ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายเหมือนกับการเลิกกับคนรักเก่า แต่ Brexit เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนนับสิบล้านที่ผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้นระหว่างอังกฤษและกลุ่มยูโรโซน นี่เองที่ทำให้หลายคนกังวลว่า Brexit จะเป็นต้นเหตุของภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ หรืออาจลุกลามถึงขั้นเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่หรือไม่

 

 

 

แต่ทำไมต้องออกจาก EU

 

การรวมกลุ่มเศรษฐกิจยุโรปนั้นหมายถึงการเคลื่อนย้ายสิ่งต่างๆ ได้อย่างเสรีทั้งทุนเงินตราและทุนมนุษย์ นี่คือประโยชน์ของการเป็นสมาชิกในกลุ่มยูโรโซน อังกฤษสามารถขายของได้อย่างเสรีและเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรีภายในกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งประเทศสมาชิกอื่นๆ ก็สามารถขายของและเคลื่อนย้ายคนเข้ามาในอังกฤษได้เช่นกัน

 

จุดสำคัญอยู่ตรงที่ว่า มันมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ประเทศในกลุ่ม EU ประกาศต้อนรับผู้อพยพจากตะวันออกกลางหรือประเทศที่มีความไม่สงบทางการเมืองในหลายประเทศให้เข้ามาพักอาศัยได้ สมมติประเทศสเปนอ้าแขนรับผู้อพยพเข้ามา ด้วยความที่สเปนก็เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม EU  ผู้อพยพก็มีสิทธิ์เดินทางไปประเทศอื่นๆ ในกลุ่มยูโรได้ อังกฤษเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้อพยพนิยมเดินทางเข้าไปอยู่อาศัยมากเสียด้วย

 

นี่เองที่ทำให้คนอังกฤษเริ่มเป็นกังวลในความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ได้หมายความว่าผู้อพยพทุกคนจะเป็นภัย แต่การที่มีคนแปลกหน้าเข้ามาในบ้านเราคงไม่มีใครสะดวกใจขนาดนั้น เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นที่ทำให้ประชาชนอังกฤษเริ่มมีความคิดอยากจะออกจากกลุ่มยูโรโซน

 

อีกประการหนึ่งก็คือ การเป็นสมาชิกในกลุ่มยูโรจะต้องร่วมลงขันเงินเพื่อรักษาความเป็นสมาชิก ซึ่งอังกฤษจ่ายเงินก้อนนี้อยู่ที่ราวปีละ 8.5 พันล้านปอนด์ ประชาชนบางส่วนจึงเริ่มตั้งคำถามว่า “แล้วเงินที่จ่ายไปมันจะคุ้มค่ากับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับจริงหรือ?” รวมทั้งเงินค่าสมาชิกเหล่านี้ก็ถูกนำไปใช้กับการช่วยเหลือประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่กำลังถังแตกอย่าง เช่น ประเทศกรีซที่กำลังมีสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่

 

ทำไมเราต้องทำงานอย่างยากลำบากแล้วนำเงินไปช่วยเหลือคนที่ไม่ระวังการใช้เงินของตัวเองด้วยเล่า ? นี่ก็เป็นเหตุผลอีกส่วนที่ทำให้ Brexit ถูกผลักดันมากขึ้น

 

 

 

อยากออกจะแย่

 

เมื่อผลจากการทำประชามติทั้งประเทศออกมาว่าอยากให้อังกฤษออกจาก EU มากกว่าที่จะอยู่ต่อ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เทเรซ่า เมย์ จึงต้องเริ่มวางแผนการออกจากกลุ่มสมาชิกให้เป็นแบบ soft landing ที่สุด

 

แต่ผ่านมาจนแล้วจนรอดเกือบ 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2016 ที่มีการทำประชามติจนถึง 2019) รัฐสภาก็ยังไม่ยอมรับแผนใดๆ ที่ เทเรซ่า เมย์ คิดเพื่อให้อังกฤษออกจาก EU ได้อย่างราบรื่นที่สุดเลยแม้แต่แผนเดียว ความหวังที่อังกฤษจะได้เดินออกจากกลุ่มอย่างเฉิดฉายเริ่มริบหรี่ และริบหรี่ลงไปอีกเมื่อ บอริส จอห์นสัน ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ เพราะเขาคือหนึ่งในคนที่อยากทำ Brexit มาก

 

ซึ่งการทำ Brexit แบบดื้อๆ (เรียกอีกอย่างว่า No-Deal Brexit) เลยอาจเป็นผลเสียต่ออังกฤษได้ อย่างที่กล่าวไปว่าอังกฤษเองก็ได้รับประโยชน์ไม่น้อยจากกลุ่ม EU โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ทางการค้า สินค้าเกือบครึ่งของอังกฤษถูกส่งขายให้กับคนในยูโรโซน ถ้าอยู่ดีๆ ต้องออกจากกลุ่มและโดนคิดภาษีจากการค้าขายราวกับไม่เคยรู้จักกันมาก่อน มันย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอังกฤษอย่างไม่ต้องสงสัย บางคนมองว่ามันอาจเลวร้ายถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจอังกฤษซึมลงไปถึง 15 ปีเลยทีเดียว

 

ไม่เพียงเท่านั้น ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่อังกฤษประกาศ Brexit ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษก็อ่อนตัวมาอย่างต่อเนื่องแล้วกว่า 15% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เปรียบได้กับตลาดการเงินกำลังตะโกนบอกอังกฤษเป็นนัยๆ ว่า “ฉันไม่เชื่อว่าเธอจะออกจากกลุ่มยูโรได้แบบไม่มีผลกระทบหรอกนะ ยังไงเศรษฐกิจเธอก็ต้องร่วง และเงินเธอมันต้องมีค่าน้อยกว่านี้แน่ๆ” อีกทั้งยังมีการประเมินกันว่าค่าเงินปอนด์อาจอ่อนได้ถึง 25% หากออกจากกลุ่มยูโรโซนโดยไม่เตรียมแผนใดๆ ไว้เลย

 

 

 

แต่จะเลวร้ายขนาดนั้นจริงหรือ

 

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก EU มีความผูกพันกันแน่นแฟ้นจนยากที่จะแยกออกโดยไม่มีผลกระทบ ยิ่งหากเป็นกรณีเลวร้ายที่สุดคืออังกฤษพาตัวเองออกจากกลุ่มแบบไร้ซึ่งข้อตกลงใดๆ ธนาคารกลางอังกฤษได้วิเคราะห์ไว้ว่าอาจทำให้เศรษฐกิจของประเทศทรุดตัวลงถึง 8% ย่ำแย่ไม่แพ้วิกฤตเศรษฐกิจ และถ้ามันเป็นเช่นนั้นจริง ตลาดการเงินและการลงทุนที่เชื่อมต่อกันทั่วโลกก็อาจเกิด panic รุนแรงจนกลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ได้

 

แต่อีกด้านหนึ่งก็มีการวิเคราะห์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน จริงอยู่ว่าการออกจากยูโรโซนจะทำให้การค้ามีความยุ่งยากขึ้น เจอทั้งภาษีและขั้นตอนเอกสารต่างๆ มากมาย แต่ด้วยค่าเงินปอนด์ที่อ่อนตัวมาแล้ว 15% มันย่อมส่งผลดีต่อผู้ส่งออกชาวอังกฤษ เพราะนั่นหมายถึงการขายของได้เงินมากขึ้น ตลาดหุ้น FTSE ก็ตอบสนองต่อเรื่องนี้ด้วยการปรับตัวขึ้นมาแล้ว 17% นับตั้งแต่ทำประชามติเมื่อปี 2016 มันจึงอาจชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำ Brexit ก็ได้

 

ตราบใดที่ Brexit ยังไม่ได้ข้อสรุปและดำเนินทุกอย่างได้เรียบร้อย ปัญหาเรื่องนี้ก็จะเป็นสิ่งที่ชวนวิตกกังวลของเศรษฐกิจโลกอยู่เรื่อยๆ แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครตอบได้อยู่ดีว่า Brexit จะเป็นเหตุจุดชนวนของวิกฤตครั้งใหญ่ หรือเป็นแค่เพียงแผ่นเสียงตกร่องทางเศรษฐกิจแค่ชั่วครู่กัน

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

เอกสารอ้างอิง
Factbox: No-deal Brexit – what it might mean for UK economy : reuters.com
Brexit: Winners and Losers : www.investopedia.com
วิเคราะห์ เมื่อ Brexit ถึงทางตัน อังกฤษเหลือทางเลือกอะไรบ้าง? กระทบไทยแค่ไหน? : brandinside.asia

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน