เศรษฐกิจ

ทำไมเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ อาชญากรรมมักเพิ่มขึ้น

ทำไมเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ อาชญากรรมมักเพิ่มขึ้น

ทำไมเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ อาชญากรรมมักเพิ่มขึ้น

 

ในภาวะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อย ๆ  ผู้คนมีรายได้ไม่พอใช้ ซ้ำร้ายเจอผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ผู้คนตกงานอย่างไม่ทันตั้งตัว ด้วยภาวะที่บีบคั้นให้การใช้ชีวิตในแง่เศรษฐกิจยากขึ้นไปมากทุกที เรามักจะได้เห็นข่าวทั้งออนไลน์หรือบนหน้าหนังสือพิมพ์รายงานเหตุอาชญากรรมอยู่บ่อยขึ้น จนเป็นเสียงบ่นอื้ออึงในสังคมว่าเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้คนขโมยของ ค้ายา หรือก่ออาชญากรรมในรูปแบบอื่น ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ  บทความนี้จะชวนมาถอดรหัสว่าเศรษฐกิจกับอาชญากรรมมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร

 

ก่อนอื่น ลองมาดูข้อมูลกันก่อนว่า ความคิดที่ว่าเศรษฐกิจตกต่ำทำให้อาชญากรรมเพิ่มขึ้น นั้นเป็นแค่มายาคติของคนในประเทศไทย หรือเป็นปัญหาที่มีรูปแบบซ้ำกันในหลาย ๆ ประเทศ

 

จากการค้นคว้าสำรวจของสหประชาชาติ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม ระบุว่า เมื่อลองสุ่มสำรวจประเทศทั่วโลกออกมา 15 ประเทศ เพื่อเปรียบเทียบรูปแบบของจำนวนเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้น กับปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้พบจุดเชื่อมโยงที่ชัดเจนว่า อาชญากรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจมีปัญหาจริง ๆ

งานข้อมูลจาก FBI สหรัฐอเมริกาเองก็ชี้ให้เห็นไปในทางเดียวกัน

ดังนั้น อาชญากรรมที่ตามมาจากเศรษฐกิจตกต่ำนั้น ดูจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเป็นสากล

 

สำหรับประเทศไทย ณ ปัจจุบัน เศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมแย่ลง คนว่างงานเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยรวมไปถึงพ่อค้ารายเล็กรายน้อยประเภทหาบเร่แผงลอยต้องเลิกขาย เนื่องจากขายไม่ได้ เหตุเพราะกำลังซื้อไม่มี และส่วนหนึ่งต้องเลิกกิจการไปเนื่องจากถูกทางเจ้าหน้าที่จับกุมในข้อหากีดขวางทางเดิน และทำให้บ้านเมืองสกปรก จึงทำให้คนกลุ่มนี้ซึ่งโดยปกติก็จนอยู่แล้วจนยิ่งขึ้น

 

ส่วนหนึ่งของคนกลุ่มนี้จึงได้กลายเป็นอาชญากรจำเป็น ด้วยการก่ออาชญากรรมเพื่อมุ่งประสงค์ต่อทรัพย์ บางรายได้หันไปขายยาเสพติดรายย่อยก็มีอยู่ไม่น้อย และบางรายหนีความทุกข์อันเกิดจากความจนด้วยการเสพยาเสพติด และได้ผันตัวเองเป็นผู้ขายควบคู่กันไปกลายเป็นเครือข่ายพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ไปโดยไม่ตั้งใจ

 

ถัดมา ลองมาดูสถิติในแง่ตัวเลขเพื่อให้เห็นความชัดเจนของลักษณะอาชญากรรมในไทยกันบ้าง

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยตัวเลขจำนวนคดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความทั้งสิ้นเกือบ 6 หมื่นเรื่องในเวลาเพียง 4 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. – 31 ก.ค.2565) มีการอายัดเงินไปแล้วร่วม 121 ล้านบาท โดยพบว่าเป็นคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับการหลอกลวงด้านการเงินมากเป็นอันดับ 1 (รวมกว่า 31,000 คดี) โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ 1. หลอกให้ทำงานออนไลน์ 2. หลอกว่าจะให้กู้เงินแต่กลับไม่ได้เงินกู้ โดยการหลอกลวงทั้งสองแบบนี้ มักจะให้เหยื่อจ่ายเงินค้ำประกันล่วงหน้า และ 3. หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ

 

โดยมีการวิเคราะห์ว่า ในช่วงที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ อัตราเงินเฟ้อสูง จึงเป็นช่วงเวลาที่คนที่มีเงินเก็บออมพยายามหาช่องทางที่จะทำให้เงินที่มีอยู่งอกเงยได้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก จึงทำให้เป็นกลุ่มเป้าหมายของมิจฉาชีพประเภทล่อลวงให้เอาเงินมาร่วมลงทุน โดยเอาอัตราผลตอบแทนต่อวันหรือเดือนที่สูงมาเป็นปัจจัยล่อให้นักลงทุนมือใหม่ตกหลุมพราง

 

เมื่อผู้คนอดอยาก หาทางลืมตาอ้าปากไม่ได้ ตกอยู่ในสภาวะยากลำบาก ตัวเลือกในการช่วยเหลือตัวเองถูกบีบให้แคบลงเรื่อย ๆ  ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดเหตุอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น คำถามคือ เราจะเอาตัวรอดอย่างไร ทั้งจากความยากจน และภัยอันตรายที่มากขึ้น

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อ้างอิง
MGROnline, อาชญากรรมเพิ่มขึ้น: สะท้อนสังคมและเศรษฐกิจแย่ลง, อ้างอิงจาก https://mgronline.com/daily/detail/9610000055174
ข่าวออนไลน์7HD, เมื่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อาชญากรรมก็จะเพิ่มขึ้น, อ้างอิงจาก https://news.ch7.com/detail/587703
UNODC, Economic crises may trigger rise in rate crime, Retrieved from https://www.unodc.org/unodc/en/frontpage/2012/February/economic-crises-can-trigger-rise-in-crime.html

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน