เศรษฐกิจ

นโยบาย Zero-COVID ของจีน กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างไร

นโยบาย Zero-COVID ของจีน กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างไร

นโยบาย Zero-COVID ของจีน กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างไร

 

หนทางรับมือกับโรคระบาดนั้นมีอยู่หลายวิธี และทางที่จีนเลือกใช้ได้แก่นโยบาย Zero-COVID การตัดสินใจว่าโควิดต้องเป็นศูนย์นำมาซึ่งการล็อกดาวน์เป็นระยะเวลายาวนานในเมืองใหญ่ทั้งหลาย รวมถึงการระงับการผลิตในโรงงาน การที่ธุรกิจและโรงเรียนต้องหยุดชะงัก นโยบายเช่นนี้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจของจีน นอกจากนี้ ห่วงโซ่อุปทานโลกยังได้รับผลกระทบไปด้วย [1]

 

นโยบายของจีนเพียงประเทศเดียว สั่นสะเทือนถึงห่วงโซ่อุปทานโลกได้อย่างไร ?

 

คำว่า “ห่วงโซ่อุปทานโลก” นั้น ตอบคำถามได้ชัดเจนในตัวมันเองอยู่แล้ว ในโลกที่ทุกอย่างล้วนเชื่อมต่อกัน การผลิตสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาไม่ได้สำเร็จเสร็จสิ้นได้ภายในการจัดการของประเทศเดียวเสมอไป อุตสาหกรรมหลายอย่างในปัจจุบันนี้พึ่งพาการผลิตจากความร่วมมือในหลายประเทศ [2] ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เลือกตั้งฐานการผลิตในประเทศที่มีแรงงานราคาถูก ดังที่เราจะได้เห็นว่าบริษัทผู้ผลิตรถของญี่ปุ่นมากมายเลือกตั้งฐานการผลิตที่ไทย

 

คงจะดีหากการประสานงานกันเพื่อผลิตสินค้าในแต่ละประเทศดำเนินอย่างราบรื่นเรื่อยไป แต่จะเกิดอะไรขึ้น หากว่าการจัดการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งหยุดชะงักไป โดยเฉพาะในกรณีที่ประเทศนั้น คือจีน ?

 

ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจมองข้าม คือการที่จีนเป็นประเทศส่งออกมากที่สุดในโลก และยังมีการนำเข้ามากเป็นอันดับสองของโลก ท่าเรือการค้าที่คึกคักที่สุดในโลก 20 อันดับแรก เป็นท่าเรือของจีนไปแล้วถึง 8 แห่ง ดังนั้น ห่วงโซ่อุปทานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกเป็นอันดับต้นๆ จึงเกี่ยวข้องกับจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าสำหรับร้านค้าปลีก อุตสาหกรรมเสื้อผ้า ชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์หรือเทคโนโลยี บริษัททั่วโลกล้วนต้องพึ่งพาจีน

 

แต่นโยบาย Zero-COVID ก็ทำให้การพึ่งพานั้นหยุดชะงักไป

 

จีนเริ่มนโยบาย Zero-COVID นับจากการระบาดที่เมืองอู่ฮั่น จากนั้นจึงเริ่มล็อกดาวน์ในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่ง และเมืองอื่นถัดมา ส่งผลให้ท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุด 3 แห่ง ได้แก่ Ningbo, Shenzhen และ Shanghai ได้รับผลกระทบไปด้วย ก่อนการมาถึงของโควิด ท่าเรือ Shanghai ไม่เพียงแต่เป็นจุดขนส่งสินค้า แต่ยังเป็นแหล่งรวมโรงงานที่สำคัญของโลก เป็นแหล่งผลิตสินค้าส่งออกร้อยละ 40 ของจีน แต่มาตรการรับมือโรคระบาดที่เข้มงวดก็ทำให้จำนวนเหล่านี้แทบจะกลายเป็นศูนย์

 

เมื่อเมืองใหญ่ของจีนต้องปฏิบัติตามมาตรการล็อกดาวน์ ผู้คนจำนวนมากที่เคยมีงานทำในท่าเรือก็สูญเสียอาชีพ จีนสูญเสียรายได้ ในขณะเดียวกัน ธุรกิจทั่วโลกที่พึ่งพาอาศัยแรงงานหรือชิ้นส่วนการผลิตจากจีนก็ต่างพากันระส่ำระสาย การจะรอให้โรคระบาดหมดไปจากจีนก็ยังเป็นความหวังที่ริบหรี่ ในเมื่อจีนยังขาดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และมาตรการ Zero-COVID ที่เข้มงวดเด็ดขาดก็ไม่ได้ช่วยให้โควิดหมดสิ้นไปจากจีนได้สักที

 

หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ผู้บริโภคจะต้องแบกรับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างช่วยไม่ได้

 

การขนส่งที่ยากลำบาก ค่าแรงงาน อะไหล่สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้ามีต้นทุนที่สูงขึ้น ผู้บริโภคทั่วโลกจึงต้องเป็นผู้จ่ายราคาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมาตรการ Zero-COVID ของจีนครั้งนี้ พร้อม ๆ กับที่ต้องเผชิญกับวิกฤตเงินเฟ้อ [3]

 

ดังนั้น เราคงได้แต่จับตาดูกันต่อไปว่า นโยบายการรับมือโควิด-19 ของจีนจะเปลี่ยนไปอีกหรือไม่ จะมีการผ่อนปรนมาตรการต่อไปอย่างไร เผื่อทิศทางการตัดสินใจของจีน จะส่งผลดีต่อห่วงโซ่อุปทานโลกได้บ้างนับจากนี้

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อ้างอิง
[1] Lim, P.H. (May 26, 2022). China’s Strict Zero-COVID Policy Creates Supply Chain Chaos. Retrieved from https://www.voanews.com/a/china-s-strict-zero-covid-policy-creates-supply-chain-chaos-/6591227.html
[2] อาร์ม ตั้งนิรันดร. (4 กรกฎาคม 2562). โลกที่แตกเป็นสองห่วงโซ่. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/122553
[3] CNBC. (August 20, 2022). How China’s Covid Shutdowns Keep Hitting Global Supply Chains. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=cug3YJpF6TY&ab_channel=CNBC

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน