เศรษฐกิจ

สรุปวิกฤตหนี้ยุโรป : Europe’s Sovereign Debt Crisis หนี้ก้อนใหญ่ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมสหภาพยุโรป

สรุปวิกฤตหนี้ยุโรป : Europe's Sovereign Debt Crisis

สรุปวิกฤตหนี้ยุโรป : Europe’s Sovereign Debt Crisis หนี้ก้อนใหญ่ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมสหภาพยุโรป

 

Europe’s Sovereign Debt Crisis เป็นชื่อวิกฤตที่ค่อนข้างยาว และอาจไม่คุ้นหน้าคุ้นตาเท่าไหร่ แต่ถ้าบอกว่า “วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป” หลายคนอาจเริ่มร้องอ๋อขึ้นมาบ้าง นี่คือวิกฤตที่มีความหมายตรงตัวตามชื่อของมัน วิกฤตที่มาจากหลายๆ ประเทศในแถบยุโรป ไม่ว่าจะเป็นสเปน อิตาลี และกรีซ พระเอกที่เป็นตัวจุดชนวนของเรื่องราวทั้งหมดนี้

 

ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก เห็นทีจะเป็นสุภาษิตที่อธิบายโลกการเงินช่วงนั้นได้ดีที่สุด อย่างที่ทุกคนรู้ว่าปี 2008 เกิด วิกฤต Subprime ในสหรัฐจนโลกทั้งโลกต้องหวั่นไหว เรียกได้ว่าหากมีอะไรที่เป็นข่าวร้ายผุดขึ้นมาในตลาด หรือสินทรัพย์อะไรบางอย่างเพียงนิดเดียว ความเชื่อมั่นที่มีน้อยอยู่แล้วก็ยิ่งน้อยลงไปใหญ่ รวมถึงตลาดการเงินการลงทุนที่น่าจะวอดวายได้แบบง่ายๆ แต่จนแล้วจนรอด ข่าวร้ายมันก็ผุดขึ้นมาจนได้

 

 

 

มือเติบ

 

ราวปี 2009 กรีซเพิ่งจะมีการเลือกรัฐบาลใหม่เข้ามาหมาดๆ เพื่อมาแทนรัฐบาลชุดเก่าที่ประชาชนได้แต่คิดแล้วก็สงสัยในความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้น แน่นอนเรากำลังพูดถึงการทุจริตคอรัปชั่น ไม่มีใครอยากได้คนโกงบริหารประเทศแน่ๆ การได้มาซึ่งรัฐบาลใหม่จึงเปรียบเสมือนความหวังที่ประชาชนชาวกรีกคิดว่าจะนำพาประเทศให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น

 

ทุกคนอาจตั้งความหวังไว้แบบนั้น แต่สิ่งที่ออกมากลับตรงข้าม ท่ามกลางข่าวดีของการเลือกรัฐบาลใหม่ ข่าวร้ายที่ซ่อนอยู่ใต้พรมก็กำลังเผยให้เห็นอย่างช้าๆ นั่นคือหนี้ รัฐบาลชุดเก่าได้ก่อหนี้ไว้มหาศาลโดยที่ไม่บอกให้ “ใคร” รู้

 

กรีซมีหนี้สินทั้งหมดราว 115% ของ GDP อีกทั้งยังมีการขาดดุลงบประมาณอีก 15% ของ GDP ทั้งหมด ความหมายง่ายๆ ก็คือ นอกจากกรีซจะมีหนี้สินล้นตัว ยังใช้เงินมากกว่าเงินที่หามาได้ ถ้านี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนธรรมดาอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก แต่นี่คือเศรษฐกิจระดับประเทศที่เชื่อมโยงกับคนนับล้าน การที่ไม่บอก “ใคร” ว่าตัวเองกำลังซุ่มเงียบก่อหนี้มันย่อมส่งผลร้ายแรงในภายหลัง

 

“ใคร” ที่ว่านั้นก็คือกลุ่ม EU หรือยูโรโซนที่ทุกคนรู้จักกันนั่นเอง

 

 

 

แมลงสาบไม่ได้มาตัวเดียว

 

กรีซเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกของกลุ่มประเทศ EU ซึ่งทุกประเทศที่เป็นสมาชิกย่อมต้องมีกฎบางอย่างเพื่อไม่ให้แต่ละประเทศทำตัวเถลไถล เพราะต้องไม่ลืมว่า การรวมกลุ่ม EU นั้นแน่นแฟ้นเสียจนใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน หากมีประเทศใดที่ทำตัวไม่ดี ชาติสมาชิกอื่นๆ อาจต้องเดือดร้อน ซึ่งสำหรับกรีซ หนึ่งในกฎหลายข้อที่ต้องปฏิบัติตามก็คือห้ามมีหนี้เกินกว่า 60% ของ GDP  และห้ามขาดดุลงบประมาณเกิน 3% ของ GDP

 

แต่ลองขึ้นไปอ่านด้านบนอีกครั้ง กรีซมีหนี้ 115% และขาดดุลงบประมาณอีก 15% ของ GDP  ดูเหมือนกฎจะมีไว้แหกสำหรับกรีซ

 

เจ้าหนี้คงไม่สบายใจกับพฤติกรรมของลูกหนี้ที่ชีวิตดีเกินเหตุ กรีซจึงถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ พันธบัตรของกรีซกลายเป็นเกรดพันธบัตรขยะ (junk bond) ที่ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 35% ดอกสูงล่อตาล่อใจ แต่ไม่รับประกันว่าจะได้เงินต้นคืนนะ และเมื่อมีความกังวลในประเทศที่หนึ่ง ความกังวลในประเทศที่สอง สาม และสี่ในกลุ่มยูโรโซนก็โผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ

 

ทั้งดอกเบี้ยที่สูง หนี้สินอีรุงตุงนัง แถมเศรษฐกิจของประเทศก็ไม่ใช่ว่าจะดีสักเท่าไหร่ ที่สุดแล้วกรีซจึงต้องวิ่งแจ้นกลับมาหาธนาคารกลางยุโรป (ECB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อขอเงินกู้มาต่อลมหายใจอีกนิด พร้อมกับเข้าสู่มาตรการรัดเข็มขัดเพื่อแลกกับการกู้เงินมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า สถานการณ์จึงพอจะทุเลาลงได้บ้าง

 

แต่นี่เป็นเพียงแค่แมลงสาบตัวแรกที่ออกมาให้เห็นเท่านั้น

 

 

 

แมลงสาบตัวอื่น

 

ใช่ว่าจะมีแต่กรีซที่ประสบปัญหาเรื่องไม่มีเงินจ่ายหนี้ ประเทศอื่นในกลุ่มยูโรโซนอย่างเช่น อิตาลี ไอร์แลนด์ สเปน ต่างก็พบชะตากรรมที่ไม่ต่างจากกรีซ ยังดีที่สัดส่วนหนี้เมื่อเทียบกับ GDP โดยรวมอาจไม่สูงนัก แต่ก็ยังไม่มีเงินพอจ่าย โดยเฉพาะสเปน ประเทศที่น่าห่วงที่สุดเพราะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่ากรีซมากมายนัก

 

เหตุนี้เองที่ธนาคารกลางยุโรปต้องเร่งเข้าช่วยเหลือโดยการปล่อยกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากๆ ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ แล้วให้ธนาคารเหล่านั้นเข้าไปซื้อหนี้ของประเทศที่เกิดปัญหาอีกต่อหนึ่งเพื่อลดความร้อนแรงของดอกเบี้ย (เมื่อมีคนอยากซื้อพันธบัตรของประเทศใดมากๆ ราคาจะสูงขึ้น และดอกเบี้ยจะต่ำลง) ซึ่งเงินที่เอามาปล่อยกู้ก็มาจากการพิมพ์แบงก์ ดูยังไงก็เหมือนมาตรการณ์ QE ของสหรัฐไม่มีผิด

 

 

 

ปัญหาเรื้อรัง

 

ในกรณีของสหรัฐ ครั้งแรกที่ประเทศแห่งทุนนิยมนี้ทำ QE (ลดดอกเบี้ย พิมพ์แบงก์รัวๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ) ก็มีแต่คนกังวลว่าเงินดอลลาร์จะกลายเป็นกระดาษ เศรษฐกิจสหรัฐจะพังพินาศ ฯลฯ แต่อย่างที่เราได้เห็นกันว่าสหรัฐก็ยังอยู่ดีมีสุข (อย่างน้อยก็ในตอนนี้) ไม่ได้เกิดวิกฤตรุนแรงอย่างที่หลายคนกลัวกัน

 

แต่สำหรับวิกฤตหนี้ยุโรป การทำ QE ของ ECB มันมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือเรื่องของเศรษฐกิจ EU ที่หลายๆ ประเทศผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งประสบปัญหา ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศสมาชิก ถ้าให้อธิบายง่ายๆ เหมือนกับงานกลุ่มสมัยเด็กที่คนขยันก็ทำงานหามรุ่งหามค่ำ คนขี้เกียจก็นอนรอคะแนนสบายใจเฉิบ แต่สุดท้ายกลับได้คะแนนเท่ากัน คนที่ทำงานมากกว่าจะรู้สึกไม่พอใจก็เป็นเรื่องปกติ

 

นี่คือสภาพที่กลุ่ม EU เป็น ณ ช่วงเวลานั้น ที่ประกอบด้วยประเทศที่เศรษฐกิจแข็งแกร่งและประเทศที่เศรษฐกิจอ่อนแอ แม้การช่วยเหลือประเทศที่เศรษฐกิจอ่อนแอจะมี QE เป็นไม้เด็ด แต่ไม้อื่นๆ ก็ต้องอาศัยเงินลงขันจากกลุ่มประเทศสมาชิกที่ร่ำรวยไปแจกจ่ายให้กับประเทศที่มีปัญหา เงินช่วยเหลือหลักแสนล้านยูโร ใครกันเล่าจะอยากทำงานเพื่อเอาเงินไปช่วยคนอื่นฟรีๆ ? นี่จึงเป็นผลให้อังกฤษทำประชามติและออกจากกลุ่ม EU เมื่อปี 2016

 

วิกฤตหนี้สาธารณะปัจจุบันก็ยังไม่อาจตอบได้เต็มปากว่าทุกอย่างได้รับการแก้ไข เพราะทุกวันนี้กรีซก็ยังจ่ายหนี้ไม่หมด เศรษฐกิจของประเทศที่มีปัญหาก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ เป็นวิกฤตที่ไม่น่าตื่นเต้นเลยถ้าเทียบกับวิกฤตซับไพร์มที่ทำให้ตลาดหุ้นวอลสตรีทร่วงไป 50% และสถาบันการเงินล้มระเนระนาด แต่ความไม่น่าตื่นเต้นนี้เองที่น่ากลัวกว่า มันถึงขั้นทำให้อังกฤษต้องออกจากกลุ่ม EU และความเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขแบบ 100% ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าอนาคตจะไม่เกิดปัญหาใหม่ๆ ขึ้น

 

วิกฤตรุนแรงบางอย่างอาจเกิดขึ้นฉับพลันแล้วก็จางหายไป แต่วิกฤตเรื้อรังแบบอาจน่ากลัวกว่าและแก้ไขได้ยากกว่าวิกฤตแบบอื่นมากมายนัก

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

เอกสารอ้างอิง
European Sovereign Debt Crisis : investopedia.com
What is the European Debt Crisis? : thebalance.com
Greek Debt Crisis Explained : thebalance.com
วิกฤตหนี้ยุโรป ปัญหาที่ยังไม่ได้แก้ : thaipublica.org
9 เหตุผลทำไมอังกฤษต้องออกจากสหภาพยุโรป : sanook.com

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน