สำรวจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำไทย คนรวยยิ่งรวย คนจนยิ่งจน
ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในไทย หากจะลองแจกแจงออกมาเพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ก็จะเห็นได้ว่า ผู้คนเผชิญกับภาวะที่ เงินที่ได้รับจากการทำงานยังไม่พอเลี้ยงปากท้อง และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากแหล่งอื่น ส่วนครัวเรือนยังต้องบริโภคด้วยการก่อหนี้ ความเหลื่อมล้ำนั้นโหดร้ายกับผู้คนอย่างไม่เลือกหน้า ใครหาทางอยู่รอดได้ก็อยู่ไป แต่ใครไม่ไหว ก็ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก โดยไม่มีมาตรการหรือนโยบายช่วยเหลือมากนัก บทความชิ้นนี้จะพาถอดบทเรียนเรื่องความเหลื่อมล้ำกันอีกครั้ง
โดยตัวแปรหลักที่ซ้ำเติมสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในไทยนั้น คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงการแพร่กระจายของไวรัสโควิด 19 ได้ เมื่อเกิดการระบาด ก็ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น
- กลุ่มที่รายได้ลดลงมาก เช่น ลูกจ้างในภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว กลุ่มนี้จะขาดรายได้หรือรายได้ลดลงมากจากการเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่น อาจต้องนำเงินออมที่มีอยู่มาใช้จ่าย รวมถึงอาจต้องก่อหนี้เพิ่มในช่วงที่ขาดรายได้
- กลุ่มที่รายได้ยังเท่าเดิมหรือลดลงไม่มาก เช่น ข้าราชการ ลูกจ้างของรัฐ และลูกจ้างภาคเอกชนบางส่วน กลุ่มนี้ยังออมเงินในอัตราที่ใกล้เคียงเดิมหรืออาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรการ lockdown และการ work from home ทำให้สามารถประหยัดการใช้จ่ายต่าง ๆ ได้
- กลุ่มที่รายได้เพิ่มขึ้น เช่น พ่อค้าแม่ค้าที่ปรับตัวไปขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ กลุ่มนี้สามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส สามารถเพิ่มรายได้และเก็บออมได้มากขึ้น
หากจะพูดกันง่าย ๆ ก็คงพูดได้ว่า ความเหลื่อมล้ำนั้นซ้ำเติมคนจนเสียเหลือเกิน ยิ่งจนแล้วยิ่งจนอีก
งานวิจัยจากเกียรตินาคินภัทร ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาโตแบบไม่ทั่วถึง รวยกระจุกจนกระจาย ในมิติการเติบโตของรายได้ ข้อมูลสะท้อนภาพชัดเจนว่ากลุ่มคนรายได้สูงมีรายได้ที่เติบโตสูงขึ้นเร็วกว่าคนรายได้น้อย
และยังมีสาเหตุ ทั้งปัจจัยภายนอก ปัจจัยเชิงนโยบายในประเทศ และโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดปัญหาดังนี้
- ความเหลื่อมล้ำลดลงแต่กลับเร่งขึ้นอีกจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เนื่องจากคนไทยสัดส่วนกว่า 31% ทำงานอยู่ในภาคเกษตรเมื่อการเติบโตของรายได้อยู่ในระดับต่ำทำให้ความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้น
- ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสเป็นปัจจัยสำคัญ ทั้งในมิติของโอกาสทางการศึกษาที่ไม่ครอบคลุมและมีคุณภาพแตกต่างกันมาก สิทธิแรงงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ค่าแรงที่เติบโตช้ากว่าเศรษฐกิจ กำไรที่กระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ทำให้รายเล็กแข่งขันยาก และภาครัฐยังขาดมาตรการสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือคนรายได้น้อยอย่างเป็นระบบ
- เหตุการณ์โควิด-19 จะยิ่งทำให้ภาพความเหลื่อมล้ำแย่ลงกว่าเดิม โควิดกระทบรายได้ของกลุ่มฐานของพีระมิดรุนแรงกว่ากลุ่มบน แรงงานนอกระบบมีจำนวนมาก ขาดรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็งพอ ระบบคุ้มครองทางสังคมของไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบในระดับสากล
- ประเทศไทยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำแย่ลง
จะว่าไป คำว่าความเหลื่อมล้ำนั้นอยู่คู่กับสังคมและเศรษฐกิจไทยมายาวนานมาก เป็นปัญหาที่ไม่รู้จะเริ่มแก้ตรงไหน แต่ถึงอย่างนั้น แม้จะไม่สามารถจัดการปัญหาให้หมดสิ้นไปได้ สิ่งสำคัญที่ต้องคิดคือ เราจะลดผลกระทบของมันได้อย่างไร อะไรที่จะช่วยลดแรงกระแทกของปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำนี้ได้ ในภาวะที่ซ้ำเติมคนมีรายได้น้อยมากไปทุกที
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
[1] ธนาคารแห่งประเทศไทย, ความเหลื่อมล้ำ ตัวฉุดที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยแย่ลง, อ้างอิงจาก https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_11Nov2021.aspx
[2] WorkpointToday, สรุป 20 ข้อ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไทยกำลังจะเป็นสังคมขนมชั้น, อ้างอิงจาก https://workpointtoday.com/20-to-solve-the-problem-of-inequality/
[3] Marketeer, ความเหลื่อมล้ำในไทย มีมานานแล้ว ต้องแก้กันที่ตรงไหน, อ้างอิงจาก https://marketeeronline.co/archives/216226
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :