เมื่อความรู้สึกสวนทางกับตัวเลข เหตุผลที่ชาวอเมริกันรู้สึกกังวล แม้เศรษฐกิจยังไม่ถดถอย
มหาอำนาจเช่นสหรัฐอเมริกามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก อำนาจและความร่ำรวยมหาศาลแทบจะดูเหมือนว่าประชาชนในประเทศไม่มีสิ่งใดให้ต้องกังวล แม้จะผ่านวิกฤตมากมายทั้งสงคราม โรคระบาด เงินเฟ้อ แต่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาก็ยังดำเนินไปได้อย่างดี ภาวะเงินเฟ้อไม่ย่ำแย่จนถึงขั้นที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจถดถอย ราคาน้ำมันเริ่มลดต่ำลง รายได้ของประชากรเพิ่มสูงขึ้น การจ้างงานไม่ได้ลดลง เช่นเดียวกับตลาดหุ้นที่ยังดำเนินไปอย่างแข็งแรง
เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกายังไม่มีประเด็นที่น่ากังวล อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจจากหลายแห่งกลับชี้ให้เห็นว่าประชาชนชาวอเมริกันรู้สึกในทางตรงกันข้าม ผู้คนหวั่นใจกับสภาพเศรษฐกิจ คิดว่าเศรษฐกิจไม่มีความมั่นคง และแทบไม่เชื่อมั่นการบริหารจัดการของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ในครั้งนี้ ลงทุนศาสตร์ขอพาท่านผู้อ่านไปสำรวจเหตุผลที่ทำให้ผู้คนรู้สึกไม่เชื่อมั่นในความแข็งแรงของเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้ [1, 2, 3]
ในปี ค.ศ. 2024 นี้ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Sentiment Index) ที่สำรวจโดยคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้ชี้ให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ เป็นเพราะ “ความรู้สึก” ของผู้คน ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกันกับ “ตัวเลข” ในตัวชี้วัดของเศรษฐศาสตร์มหภาค ผู้คนรับรู้ได้ว่าเศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลงจากตัวเลขราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งหมายถึงภาระรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
แม้ว่าวิกฤตเงินเฟ้อจะไม่รุนแรงถึงขั้นส่งผลให้เศรษฐกิจล่มสลาย แต่การที่ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นสร้างความกดดันให้แก่ผู้คน ก่อให้เกิดความกังวลในด้านการจับจ่ายใช้สอย สินค้าที่ขึ้นราคาไปแล้วไม่มีทีท่าว่าจะลดราคาลง และของที่ขึ้นราคาส่วนมากก็มักจะเป็นสินค้าที่ผู้คนซื้อเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารหรือราคาน้ำมัน การที่ผู้คนต้องเห็นสินค้าทั่วไปรอบตัวขึ้นราคาอยู่ทุกวันย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจ และทำให้ผู้คนประเมินว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงวิกฤต
นอกจากนี้ ความเข้าใจด้านภาวะเงินเฟ้อที่อาจไม่ถูกต้องนักยังมีส่วนที่ทำให้ผู้คนในสหรัฐอเมริกาอาจมองสภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่เกินความเป็นจริง เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ ราคาข้าวของพุ่งสูงขึ้น และเมื่อมีการประกาศว่าภาวะเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัว ผู้คนจึงเริ่มคาดหวังว่าราคาสินค้าจะลดลงมาเท่าเดิมหรือถูกลงกว่าเดิม ทั้งที่การลดลงของภาวะเงินเฟ้อไม่ได้หมายถึงการลดลงของราคาสินค้า หากราคาข้าวของลดลงเรื่อย ๆ จะกลับกลายเป็นภาวะเงินฝืดแทนภาวะเงินเฟ้อ แต่ในความเข้าใจของคนทั่วไป หากราคาสินค้ายังคงแพง ก็ยากที่จะทำใจให้เชื่อได้ว่าเศรษฐกิจยังดำเนินไปอย่างดี
สาเหตุที่ชาวอเมริกันรู้สึกไม่ดีกับเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ยังมีที่มาจากความไม่เชื่อใจในการบริหารงานของประธานาธิบดี เมื่อความไม่ไว้วางใจในการบริหารหลอมรวมเข้ากับราคาสินค้าที่แพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ก็ส่งผลให้ประชาชนรู้สึกกังวลกับเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราคงได้แต่จับตากันต่อไปว่า ความกังวลครั้งนี้จะส่งผลให้ผู้คนกังวลจนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง กระทั่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หรือส่งผลต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาต่อไปด้วยอย่างไร
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
[1] U.S. Bank. (April 26, 2024). Is the economy at risk of a recession?. Retrieved from https://www.usbank.com/investing/financial-perspectives/market-news/economic-recovery-status.html
[2] CNBC. (May 4, 2024). Why Many Americans Still Feel Bad About The Economy Despite Strong Data. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=O4qOE1U9I8o
[3] The Economist. (January 14, 2024). Why are Americans so gloomy about their great economy?. Retrieved from https://www.economist.com/united-states/2024/01/14/why-are-americans-so-gloomy-about-their-great-economy
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :