การเงิน

เงินสำรองฉุกเฉินคืออะไร สำคัญอย่างไร ต้องเก็บเงินมากเท่าไหร่ถึงเพียงพอ

เงินสำรองฉุกเฉินคืออะไร สำคัญอย่างไร ต้องเก็บเงินมากเท่าไหร่ถึงเพียงพอ

เงินสำรองฉุกเฉินคืออะไร สำคัญอย่างไร ต้องเก็บเงินมากเท่าไหร่ถึงเพียงพอ

 

สถานการณ์ฉุกเฉินในชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาได้ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ โรคร้ายแรง การถูกให้ออกจากงาน การจำเป็นต้องซ่อมบ้านหรือรถยนต์ ไปจนถึงความจำเป็นใช้เงินของคนในครอบครัวที่พุ่งเข้ามากะทันหัน สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงิน และอาจทำให้ผู้คนจำเป็นต้องไปกู้หนี้ยืมสิน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ฉุกเฉินจะไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงหากมีการจัดเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินเผื่อไว้แล้ว ในที่นี้ ลงทุนศาสตร์ขอกล่าวถึงความหมายและความสำคัญของเงินสำรองฉุกเฉิน รวมถึงจำนวนเงินที่เหมาะสม ดังต่อไปนี้ [1, 2, 3]

 

เงินทุนสำรองฉุกเฉิน คือเงินที่เก็บแยกจากบัญชีเงินฝากเพื่อเก็บออม ไม่นับรวมในแผนการเก็บเงินเพื่อลงทุนในระยะยาว หรือการนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการใช้จ่ายก้อนใหญ่ในอนาคต เช่น การซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือท่องเที่ยว จุดประสงค์ของการเก็บเงินสำรองฉุกเฉินเพื่อเตรียมเงินไว้ใช้ในยามที่เกิดเหตุด่วนเท่านั้น 

 

การเก็บเงินสำรองฉุกเฉินมีความสำคัญต่อทุกคน โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญกับความผันผวน ความตึงเครียดจากทั้งสงครามการค้าและความขัดแย้งของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงภาวะเงินเฟ้อล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าครองชีพ และการจ้างงาน การมีเงินสำรองฉุกเฉินจะช่วยให้ช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านี้ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงิน ดังนั้น ผู้ที่เก็บเงินสำรองฉุกเฉินควรกำหนดจำนวนที่ต้องการเก็บไว้ให้ชัดเจน แม้จะยังไม่มีสัญญาณของเหตุฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นเลยก็ตาม

 

จำนวนเงินที่เหมาะสมสำหรับเก็บเป็นเงินสำรองฉุกเฉินของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้ว จำนวนเงินฉุกเฉินที่เพียงพอต่อความต้องการ คือจำนวนที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดในครอบครัวอย่างน้อย 6 เดือน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าอินเทอร์เน็ตบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ไปจนถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องจัดการให้คนในบ้าน กรณีที่มีครอบครัว เช่น ค่าขนมลูก หากต้องการคำนวณเงินสำรองฉุกเฉิน ควรพิจารณาบันทึกรายจ่ายในบ้านแต่ละเดือน และเริ่มเก็บออมเพื่อให้มีเงินสำรองฉุกเฉินเมื่อเกิดเหตุจำเป็น 

 

แหล่งเก็บเงินสำรองฉุกเฉินที่ดีที่สุด คือการเก็บเงินไว้ในที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ และสามารถถอนมาใช้ได้ทันทีเมื่อต้องการ เช่น บัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูง ทั้งนี้ การเก็บเงินสำรองฉุกเฉินอาจทำได้โดยการเริ่มทยอยเก็บจากการปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่นการยกเลิกการสมัครสมาชิกบริการที่ไม่ค่อยได้ใช้ การทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน หรือการปรับลดการท่องเที่ยวนอกบ้านให้น้อยลง 

 

เงินทุนสำรองฉุกเฉินคือเงินก้อนสำคัญที่ช่วยประคองสถานภาพทางการเงินไว้ในยามวิกฤต ลงทุนศาสตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านจะมีเงินสำรองฉุกเฉินเก็บแยกไว้เพื่อใช้จ่ายในยามจำเป็น นอกเหนือจากการแบ่งเงินเพื่อใช้ในการลงทุนและการใช้จ่ายทั่วไป และหวังว่าไม่ว่าจะพบเจอกับวิกฤตใดใด ทุกท่านจะสามารถผ่านช่วงเวลาที่ไม่คาดฝันไปได้ จากการวางแผนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ 

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] Kurt, D. (February 9, 2022). Emergency Fund. Retrieved from https://www.investopedia.com/terms/e/emergency_fund.asp
[2] Investopedia Team. (December 20, 2024). How to Build an Emergency Fund. Retrieved from https://www.investopedia.com/personal-finance/how-to-build-emergency-fund/
[3] Wells Fargo Bank. (n.d.). Saving for an emergency. Retrieved from https://www.wellsfargo.com/financial-education/basic-finances/manage-money/cashflow-savings/emergencies/

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน