การเงิน

สัญญาณที่บอกว่าคุณกำลังเป็น Shopaholic และวิธีหยุดอาการเสพติดการชอปปิง

สัญญาณที่บอกว่าคุณกำลังเป็น Shopaholic และวิธีหยุดอาการเสพติดการชอปปิง

สัญญาณที่บอกว่าคุณกำลังเป็น Shopaholic และวิธีหยุดอาการเสพติดการชอปปิง

 

การจับจ่ายใช้สอย ไม่ว่าจะในรูปแบบของเงินสด บัตรเครดิต หรือการผ่อนชำระรูปแบบอื่น ๆ นับได้ว่า เป็นเรื่องปรกติ หากการใช้จ่ายนั้นสมเหตุสมผล และคุณยังสามารถควบคุมอารมณ์ได้ แต่เมื่อใดก็ตาม ที่คุณไม่สามารถจะควบคุมความสามารถในการตัดสินใจในการซื้อของ ขาดความยับยั้งชั่งใจ จนอาจเผลอกดสั่งซื้อของออนไลน์แบบไม่ยั้งมือ หรือออกไปเดินชอปปิงทุกวัน ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็มีเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ใหม่ ๆ กองพะเนินอยู่เต็มบ้าน เหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของอาการ Shopaholic หรือนักชอปตัวยง

 

ลองมาสำรวจดูว่า คุณมีสัญญาณเหล่านี้หรือไม่ ที่อาจถือได้ว่าคุณกำลังเสพติดการชอปปิงอยู่

-คิดถึงการใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการบางอย่างอยู่ตลอดเวลา

-ซื้อของที่ไม่จำเป็นอยู่เสมอ

-รู้สึกอิ่มเอมใจเมื่อได้ใช้จ่าย

-มีความรู้สึกผิดหลังจากซื้อของมาแล้ว

-ซื้อของเมื่อรู้สึกเครียดหรือเศร้า

-รู้สึกไวต่อข้อความทางการตลาดและโฆษณา

 

อาจกล่าวได้ว่า ไม่ใช่ความผิดของคุณเสียทีเดียว ที่ไม่สามารถจะอดใจซื้อของชิ้นใหม่ ๆ ได้ เนื่องจากคุณกำลังอยู่ในโลกที่รายล้อมไปด้วยความสะดวกสบาย ซึ่งช่องทางโซเชียลมีเดียมีผลอย่างมาก โดยการเข้ามาของแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่พร้อมจะป้อนข้อมูลสินค้านับหลายพัน หลายหมื่นรายการ ให้คุณดูตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแรงกระตุ้น ที่อาจทำให้คุณตัดสินใจซื้อแบบหุนหันพลันแล่น นอกจากนี้ อาจเกิดขึ้นจากแรงกดดันทางสังคมของยุคลัทธิบริโภคนิยม เมื่อการใช้จ่ายกลายเป็นตัวชี้วัดทางสังคม

 

คนที่ประสบกับอาการเสพติดในการชอปปิง มักจะเกิดความสุขเพียงชั่วคราวในขณะที่ใช้จ่าย แต่กลับว่างเปล่าและไม่รู้สึกเติมเต็มหลังจากนั้น และมีโอกาสใช้จ่ายเงินไปเกินกว่าความสามารถในการจ่ายของตน ซึ่งนำมาสู่ปัญหาสุขภาพทางการเงิน รวมไปถึงปัญหาทางสุขภาพจิต และด้านอื่น ๆ ตามมา

 

มีรายงานว่า บุคลิกภาพส่วนบุคคลสามารถนำไปสู่อาการเสพติดการชอปปิงได้ โดยคนที่รู้สึกมีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ และเป็นนักวัตถุนิยม มีโอกาสที่จะกลายเป็น shopaholic ได้ง่าย เพราะมักแสวงหาวัตถุเพื่อเติมเต็มส่วนบุคคล และแสดงออกถึงสถานะทางสังคม

 

เมื่อไรก็ตาม ที่คุณเริ่มสังเกตได้ว่าตัวเองกำลังเข้าสู่ภาวะอาการเสพติดชอปปิง คุณจะต้องเริ่มวางแผนทางการเงินใหม่ เพื่อไม่ให้ถลำไปใกล้กับแรงกระตุ้น ที่ทำให้เกิดการซื้อ ลำดับแรก คือการกำหนดงบที่เฉพาะเจาะจง เป็นการตีกรอบวงเงินที่สามารถใช้ได้ สำหรับใช้จ่ายในแต่ละเดือน ถัดมา คือการตัดขาดกับสิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ทั้งการไปเดินห้าง เข้าแอปพลิเคชันสินค้าออนไลน์ รวมไปถึงไลฟ์สดสินค้าต่าง ๆ ท้ายสุด คือการหางานอดิเรกใหม่ ๆ ทำเพื่อเติมเต็มชีวิตในด้านอื่น ๆ ทั้งสุขภาพ ความรู้ และความสัมพันธ์ เป็นต้น

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

https://www.sofi.com/learn/content/signs-of-a-shopaholic/
https://importantenough.com/deadly-sins-of-every-shopaholic/
https://www.verywellmind.com/shopping-addiction-4157288

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน