วิทยาศาสตร์

ภัยคุกคามหรือความสะดวกสบาย ? ปัจจัย 3 ประการที่ควรคำนึงถึงเมื่อใช้งานเอไอ

ภัยคุกคามหรือความสะดวกสบาย ? ปัจจัย 3 ประการที่ควรคำนึงถึงเมื่อใช้งานเอไอ

ภัยคุกคามหรือความสะดวกสบาย ? ปัจจัย 3 ประการที่ควรคำนึงถึงเมื่อใช้งานเอไอ

 

การมาถึงของเอไอเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ไปในหลายมิติ แรงงานมนุษย์ส่วนหนึ่งเริ่มถูกทดแทนด้วยเอไอ และงานหลายอย่างที่มนุษย์เคยต้องทำเองทั้งหมดก็มีเอไอคอยอำนวยความสะดวก แต่ในขณะเดียวกัน วงการศิลปะต่าง ๆ ก็เริ่มเผชิญความท้าทายจากผลงานสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจากเอไอ วงการการศึกษาต้องหาทางคัดกรองผลงานที่ผู้เรียนให้เอไอเป็นผู้ตอบคำถามแทนที่จะเรียนรู้และคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง

 

จากประเด็นเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าการพัฒนาของเอไอยังมีทั้งข้อดีและข้อด้อยที่ต้องศึกษาและปรับปรุงกันอีกยาวนาน ในที่นี้ ลงทุนศาสตร์ ขอพาท่านผู้อ่านไปสำรวจปัจจัย 3 ประการที่ควรคำนึงถึง สำหรับการใช้งานเอไอในปัจจุบัน ดังต่อไปนี้ [1, 2, 3]

 

ปัจจัยข้อแรกที่ควรคำนึงถึง คือความแม่นยำเที่ยงตรงของเอไอ ที่ยังไม่สามารถยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ข้อมูลที่ใช้สำหรับพัฒนาเอไอมีจำนวนมหาศาล แต่ก็ยังไม่มากเพียงพอจะครอบคลุมทุกความเป็นจริงบนโลกใบนี้ หากข้อมูลที่เอไอมีไม่ตรงกับความเป็นจริง ก็มีโอกาสสูงที่เอไอจะให้คำตอบที่ผิดพลาด และที่ควรระวังมากไปกว่านั้น คือเมื่อเอไอไม่รู้ว่าสิ่งใดคือความจริงที่แท้ เอไอจึงไม่สามารถให้คำเตือนกับผู้ใช้งานได้ และเลือกให้คำตอบแก่ผู้ใช้งานโดยทำเสมือนว่าสิ่งที่เอไอรู้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้น เมื่อใช้งานเอไอ ควรระวังถึงความไม่เที่ยงตรง และตรวจสอบความถูกต้องของคำตอบอีกครั้ง

 

ปัจจัยข้อสองที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ คือประเด็นด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ของงานสร้างสรรค์ ข้อมูลมากมายที่ถูกใช้ในการพัฒนามีที่มาจากผลงานศิลปะที่ผู้สร้างไม่ได้เคยรับการขออนุญาตนำไปใช้ ส่งผลให้ผลงานที่เอไอสร้างออกมาซ้อนทับกับผลงานที่มีผู้เป็นเจ้าของ อันเป็นผลงานที่ผู้สร้างสรรค์ใช้ความคิดและจิตวิญญาณของตนเองผลิตออกมา การใช้เอไอผลิตผลงานศิลปะกลายเป็นความฉาบฉวยและการฉกฉวยผลงานของศิลปิน และอาจนำไปสู่การฟ้องร้องได้ในที่สุด

 

ปัจจัยข้อสุดท้าย คือการขัดขวางกระบวนการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ การมาถึงของเอไอช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้คนที่รู้วิธีการใช้มันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่อาจกลายเป็นดาบสองคมที่หันมาทำร้ายเยาวชนที่เติบโตขึ้นกับเอไอ เมื่อคำตอบของทุกคำถามง่ายดายเพียงแค่ใช้ปลายนิ้วคลิก ผู้คนเริ่มกังวลถึงประสิทธิภาพในการคิดวิเคราะห์ของเด็กรุ่นใหม่ที่เคยชินกับการหาคำตอบผ่านโปรแกรม ChatGPT หรือใช้โปรแกรมเอไอทั้งหลายสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ซึ่งจะทำให้ทักษะความคิดสร้างสรรค์อันเป็นความสามารถของมนุษย์ถูกทำลายไปโดยเอไอ

 

เอไอเป็นประโยชน์เมื่ออยู่ในมือของผู้คนที่รู้จักประยุกต์ใช้ แต่อาจก่ออันตรายหากอยู่ในมือของผู้ที่ใช้งานเอไอโดยไม่คิดทบทวน ไม่คำนึงถึงประเด็นด้านลิขสิทธิ์ และไม่คิดวิเคราะห์ด้วยตนเองอีกต่อไป ไม่ว่าต่อจากนี้ เอไอจะพัฒนาไปอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เราควรให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือกระบวนการคิดวิเคราะห์และความสร้างสรรค์ของมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ยังคงเป็นผู้ควบคุมเทคโนโลยี และไม่กลายเป็นผู้ที่ถูกเทคโนโลยีควบคุมไปเสียเองในสักวัน

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] Cheyenne DeVon. (December 22, 2023). NEXT GEN INVESTING

AI chatbots can ‘hallucinate’ and make things up—why it happens and how to spot it. Retrieved from https://www.cnbc.com/2023/12/22/why-ai-chatbots-hallucinate.html?forYou=true
[2] AIContentfy team. (November 6, 2023). The impact of AI on content accuracy and reliability. Retrieved from https://aicontentfy.com/en/blog/impact-of-ai-on-content-accuracy-and-reliability
[3] Andres Guadamuz. (August 11, 2022). Copyright infringement in artificial intelligence art. Retrieved from https://www.technollama.co.uk/copyright-infringement-in-artificial-intelligence-art

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน