สังคมศาสตร์

วิกฤตน้ำสะอาดในฉนวนกาซา ปัญหาที่ยังไม่มีทางออก

วิกฤตน้ำสะอาดในฉนวนกาซา ปัญหาที่ยังไม่มีทางออก

วิกฤตน้ำสะอาดในฉนวนกาซา ปัญหาที่ยังไม่มีทางออก

 

ความขัดแย้งบนฉนวนกาซายังไม่จบลง และในระหว่างที่สงครามดำเนินไป คุณภาพชีวิตของผู้คนบนพื้นที่อันตรายก็มีแต่จะย่ำแย่ลงไปเรื่อย ๆ นับตั้งแต่อิสราเอลและฮามาสปะทะกันในวันที่ 7 ตุลาคม ทั้งสองฝ่ายต่างก็ตอบโต้กันอย่างหนัก และหนึ่งในมาตรการที่อิสราเอลใช้เพื่อจัดการกับกลุ่มฮามาส คือการตัดการเข้าถึงน้ำสะอาด ในครั้งนี้ ลงทุนศาสตร์ขอพาท่านผู้อ่านไปสำรวจปัญหาการเข้าถึงน้ำสะอาดในฉนวนกาซา ดังนี้ [1, 2, 3]

 

วิกฤตการณ์ด้านน้ำสะอาดบนพื้นที่ฉนวนกาซาเกินขึ้นยาวนานตั้งแต่ช่วงก่อนการปะทะระหว่างฮามาสและอิสราเอล ก่อนหน้านี้ น้ำสะอาดในฉนวนกาซามีที่มาจากน้ำทะเลและน้ำเสียที่ผ่านการกรองจากชั้นน้ำบาดาลกรวดทรายระดับตื้น ซึ่งองค์การสหประชาชาติเคยประเมินไว้ว่า น้ำกรองร้อยละ 96 ในฉนวนกาซาไม่ปลอดภัยพอให้มนุษย์บริโภค ดังนั้น ผู้คนในฉนวนกาซาจึงจำเป็นต้องพึ่งพาน้ำสะอาดจากแทงก์น้ำส่วนตัว และน้ำทะเลที่ผ่านระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล รวมถึงการซื้อน้ำจำนวนหนึ่งจากอิสราเอล

 

ระบบผลิตน้ำในกาซาไม่เคยได้รับการรักษาให้คงมาตรฐานไว้ เนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง เช่นในปี ค.ศ. 2007 ที่มีความขัดแย้งกับอียิปต์และอิสราเอล รวมถึงในปี ค.ศ. 2023 นี้ที่เกิดการปะทะขึ้นอีกครั้ง อิสราเอลตอบโต้กลุ่มฮามาสด้วยการตัดช่องทางการเข้าถึงอาหาร ไฟฟ้า พลังงาน น้ำสะอาด ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อิสราเอลปิดท่อน้ำที่เคยส่งไปยังฉนวนกาซา ส่งผลให้น้ำที่จะถูกนำไปใช้เป็นพลังงานมีจำนวนไม่เพียงพอ ระบบผลิตน้ำจืดในกาซาจึงได้รับผลกระทบไปด้วย

 

ระบบผลิตน้ำจืดสามารถกรองน้ำออกมาได้เพียงร้อยละ 5 ของจำนวนที่เคยผลิตได้ น้ำเสียมากมายที่ไม่ได้รับการบำบัดเจิ่งนองไปทั่ว และส่งผลต่อสุขอนามัยของผู้คนในพื้นที่ นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นมา ผู้คนในฉนวนกาซาประสบกับอาการท้องร่วงมากกว่า 3 หมื่นราย โดยจำนวนเกินครึ่งในนั้นเป็นเพียงเด็กเล็กที่อายุไม่ถึง 5 ขวบ องค์การสหประชาชาติได้เตือนว่าอาการท้องร่วงอาจทำให้เด็กเล็กเหล่านี้มีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่าความรุนแรงในสงครามถึง 20 เท่า

 

การขาดแคลนน้ำสะอาดส่งผลให้ผู้คนในฉนวนกาซาต้องอาศัยน้ำจากทะเลในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาบน้ำ ซักผ้า หรือล้างจาน จากการประเมินขององค์การอนามัยโลก ผู้คนในฉนวนกาซานับ 2 ล้านราย ถูกบีบบังคับให้อยู่รอดด้วยน้ำเพียง 3 ลิตรต่อวัน นับว่าเป็นจำนวนเพียง 1 ใน 5 ของปริมาณ 15 ลิตร ที่องค์การอนามัยโลกได้เคยแนะนำไว้ว่าเป็นจำนวนขั้นต่ำของน้ำสะอาดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

 

สงครามกำลังฆ่าผู้คนให้ตายลงช้า ๆ แม้ไม่ใช้อาวุธที่ทำให้เสียชีวิตในทันที แต่การบีบบังคับด้วยการตัดการเข้าถึงน้ำสะอาดกำลังทรมานผู้คนจำนวนมากในฉนวนกาซาให้ทุกข์ทนแสนสาหัสก่อนจะตายลงไป ไม่ว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้จะจบลงอย่างไร ลงทุนศาสตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามจะคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมในการจัดการปัญหา เพื่อให้ผู้คนทั้งสองฝ่ายไม่ต้องบาดเจ็บล้มตาย หรือทำร้ายกันเองต่อไปในความขัดแย้งครั้งนี้

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] The Wall Street Journal. (November 17, 2023). Why Gazans Don’t Have Enough Water to Survive. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=xt1l1zE_zIY
[2] Laura Paddison and Rene Marsh. (October 24, 2023). Gazans forced to drink dirty, salty water as the fuel needed to run water systems runs out. Retrieved from https://edition.cnn.com/2023/10/24/middleeast/gaza-water-war-climate-intl-cmd/index.html
[3] Jonathan Yerushalmy. (October 17, 2023). Crisis in Gaza: why food, water and power are running out. Retrieved from https://www.theguardian.com/world/2023/oct/17/crisis-gaza-why-food-water-power-running-out

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน