สังคมศาสตร์

ส่องเศรษฐกิจและสังคมมนุษย์ญี่ปุ่นในยุค 80s-90s ผ่านภาพยนตร์ Pom Poko

ส่องเศรษฐกิจและสังคมมนุษย์ญี่ปุ่นในยุค 80s-90s ผ่านภาพยนตร์ "Pom Poko"

ส่องเศรษฐกิจและสังคมมนุษย์ญี่ปุ่นในยุค 80s-90s ผ่านภาพยนตร์ Pom Poko

 

“ทานูกิ การต่อสู้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม สภาพสังคมที่ต้องดิ้นรน” ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของภาพยนตร์แอนิเมชันของ Ghibli Studio ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก อย่างเรื่อง “Pom Poko” หรือ ชื่อไทยเรียกว่า “ทานูกิป่วนโลก” นั่นเอง โดยภาพยนตร์ดังกล่าวถูกนำมาฉายในปี ค.ศ. 1994 ซึ่งเป็นเรื่องราวของทานูกิในเนินเขาทามะ ที่ถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนไปทั้งหมด จากการเข้ามาของโครงการ “เมืองใหม่ทามะ” ที่ต้องการจะใช้พื้นที่ทางธรรมชาติในบริเวณตรงนี้ ให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน

 

สิ่งเหล่านี้ ได้ส่งผลทำให้ทานูกิในเมืองดังกล่าว ได้ตัดสินใจที่จะหาทางในการกู้คืนธรรมชาติที่ถือว่าเป็นที่อยู่อาศัยของพวกมันเช่นกัน โดยใช้วิธีการ “แปลงกาย” ซึ่งถือว่าเป็นศาสตร์โบราณที่ทานูกิสามารถทำได้ โดยเป้าหมายของทานูกิเหล่านี้ คือการแปลงกายเป็นมนุษย์ เพื่อที่จะสามารถเข้าไปใช้ชีวิตในสังคม ที่แตกต่างจากสังคมที่พวกเขาคุ้นเคย และนั่นยังรวมไปถึงการดำเนินแผนการในการทำให้โครงการดังกล่าวยุติลง ด้วยการใช้วิชาแปลงกายเพื่อก่อกวนและทำให้ทุกคนคิดว่าดินแดนแห่งนี้เป็นดินแดนต้องห้ามนั่นเอง

 

ซึ่งด้วยความสนุกสนานและลวดลายของ Ghibli ที่แสนน่ารัก ก็ทำให้ Pom Poko ทำกำไรได้มากถึง 4.47 พันล้านเยนในขณะนั้น และในปีเดียวกันนี้เอง ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถก้าวเข้าไปสู่เวทีออสการ์อีกด้วย เพียงเท่านี้ก็คงจะบอกได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จมากแค่ไหน และแน่นอนว่า นอกจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะพูดถึงเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ถือว่าเป็นเทรนด์หลักของภาพยนตร์ในยุคนั้นที่การพูดถึงเรื่องนี้เป็นที่นิยมอย่างมาก แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือการที่ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวกำลังจะแสดงมุมมองของคนชายขอบหรือคนท้องถิ่นที่มีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ทศวรรษที่ 60s

 

โดยสำหรับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 60s – 70s ถือว่าเป็นยุคสมัยที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสูง ซึ่งเป็นการแปลงโฉมประเทศที่เกือบล่มสลายจากการโจมตีของระเบิดนิวเคลียร์ พร้อมกับการเข้ามาของการสนับสนุนของฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ก่อนที่จะเริ่มคงที่ในช่วงทศวรรษที่ 80s – 90s ที่ความร้อนแรงของการพัฒนาเศรษฐกิจมีมากขึ้น จนทำให้เกิดข้อตกลงพลาซา เพื่อควบคุมกระแสความร้อนแรงดังกล่าวนั้น

 

สิ่งนี้ ได้ส่งผลทำให้เกิดการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน รวมไปถึงการพัฒนาความเป็นเมือง ที่ส่งผลทำให้เกิดการใช้พื้นที่ทางธรรมชาติในการก่อตั้งเมืองเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว คงจะไขข้อข้องใจว่า เพราะเหตุใด ทานูกิเหล่านี้จึงจำเป็นที่จะต้องดิ้นรน เพราะการพัฒนาความเป็นเมืองย่อมทำให้สิ่งมีชีวิต หรือประชาชนที่ใช้ชีวิตแบบท้องถิ่น ถูกบีบให้จำเป็นจะต้องยอมรับกับความเป็นเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจจะต้องเลือกอยู่ 2 ทางว่า จะต่อสู้ หรือปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตได้

 

หากใครได้รับชมจนจบแล้ว เราก็คงจะเห็นได้ว่าทานูกิภายในภาพยนตร์เรื่องนี้ เลือกชะตาชีวิตของตนเองอย่างไร หากแต่ในความเป็นจริง ชีวิตมันกลับมีความซับซ้อนมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการยินยอมเพื่อใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และหากไม่สามารถปรับตัวได้ ก็อาจทำให้ชีวิตของตนเองเกิดปัญหา อันเป็นผลลัพธ์ของประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างสูง แบบเดียวกับที่เราได้เห็นชีวิตของทานูกิหรือสุนัขจิ้งจอกที่แปลงกายได้ภายในเรื่องนี้นั่นเอง

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
Donald Rositano. Pom Poko and the Fight for Life. สืบค้นเมื่อ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2567. จาก https://donaldrositano.medium.com/pom-poko-and-the-fight-for-life-47fd4fea655c
Kengo Inoue. The Growth Experience of Japan – What Lessons to Draw?. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2567. จาก https://www.rba.gov.au/publications/confs/1995/inoue.html
Ministry of the Environment Government of Japan. Quality of the Environment in Japan 1989. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2567. จาก https://www.env.go.jp/en/wpaper/1989/eae180000000000.html
Yasuo Masai, Gil Latz, Shigeki Hijino. economy of Japan. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2567. จาก https://www.britannica.com/money/economy-of-Japan
วัชลาวลี คำบุญเรือง. การเมืองที่เห็นหัว Pom Poko. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2567. จาก https://themomentum.co/ruleoflaw-pom-poko

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน