สังคมศาสตร์

ผู้ไกล่เกลี่ยท่ามกลางความขัดแย้ง เหตุผล 3 ประการที่ทำให้กาตาร์กลายเป็นประเทศที่สำคัญต่อสันติภาพโลก

ผู้ไกล่เกลี่ยท่ามกลางความขัดแย้ง เหตุผล 3 ประการที่ทำให้กาตาร์กลายเป็นประเทศที่สำคัญต่อสันติภาพโลก

ผู้ไกล่เกลี่ยท่ามกลางความขัดแย้ง เหตุผล 3 ประการที่ทำให้กาตาร์กลายเป็นประเทศที่สำคัญต่อสันติภาพโลก

 

ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่ลุกลามบานปลาย หลายประเทศได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสหภาพยุโรป อินเดีย รวันดา รวมไปถึงกาตาร์ที่ได้รับบทบาทสำคัญในการเป็นผู้เจรจาให้กลุ่มฮามาสปล่อยชาวอิสราเอลและผู้ที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอลที่ถูกจับเป็นตัวประกันในฉนวนกาซา นอกจากการเจรจาเพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ครั้งนี้ กาตาร์ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหลายครั้ง ทั้งในความขัดแย้งระหว่างอัฟกานิสถาน  อิหร่าน และยูเครน

 

ในครั้งนี้ ลงทุนศาสตร์ขอพาทุกท่านไปสำรวจเหตุผล 3 ประการที่ส่งเสริมให้กาตาร์กลายเป็นประเทศที่สำคัญต่อสันติภาพของโลก ดังนี้ [1, 2, 3, 4, 5]

 

เหตุผลข้อแรก คือความร่วมมือของกาตาร์ที่มีต่อนานาประเทศ กาตาร์มีเขตแดนติดกับทั้งซาอุดีอาระเบีย ประเทศมหาอำนาจในตะวันออกกลาง และมีความสัมพันธ์ในการส่งออกก๊าซธรรมชาติผ่านทะเลที่เชื่อมต่อกับอิหร่าน ซึ่งนับเป็นประเทศศัตรูคู่แค้นกับซาอุดีอาระเบีย อย่างไรก็ตาม การส่งออกก๊าซธรรมชาติที่เป็นรายได้หลักของประเทศยังส่งเสริมให้กาตาร์ได้เป็นพันธมิตรกับเหล่าประเทศคู่ค้ามากมายในยุโรป โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่ประเทศยุโรปต้องการหลีกเลี่ยงการพึ่งพาพลังงานธรรมชาติจากรัสเซีย เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตร ความร่วมมือที่แต่ละประเทศมีต่อกาตาร์ส่งผลให้กาตาร์กลายเป็นประเทศที่อยู่กลางความขัดแย้ง และสามารถเป็นตัวกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์ได้ดีด้วยในขณะเดียวกัน

 

เหตุผลข้อต่อมา คือความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐอเมริกา ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันหลายประการ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางการทหาร กาตาร์ส่งเสริมปฏิบัติการทางการทหารของสหรัฐอเมริกาในหลายครั้ง ตั้งแต่การสู้รบของสหรัฐอเมริกาในสงคราวอ่าวครั้งที่ 1 การสนับสนุนสงครามอิรักโดยให้สหรัฐอเมริกาตั้งศูนย์บัญชาการในเมืองโดฮา ปัจจุบันนี้ สหรัฐอเมริกามีศูนย์บัญชาการทางทหารหลายแห่งในกาตาร์ แทบจะเรียกได้ว่ากาตาร์เป็นประตูสู่โลกตะวันออกกลางของสหรัฐอเมริกา ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ส่งเสริมให้กาตาร์กลายเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลในแถบตะวันออกกลางด้วยเช่นกัน

 

เหตุผลข้อสุดท้าย คือความสำเร็จในการประนีประนอมระหว่างคู่ขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมา กาตาร์ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การและหน่วยงานระหว่างประเทศมากกว่า 70 แห่ง และมีบทบาทสำคัญในการเจรจาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในตะวันออกกลางหลายครั้ง เช่น ในปี พ.ศ. 2551 กาตาร์เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การเจรจาระหว่างพรรคการเมืองในเลบานอนบรรลุผลจนจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ  รวมถึงการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างเลบานอนและซีเรีย ความสำเร็จในการเป็นตัวกลางที่ผ่านมาส่งผลให้กาตาร์ถูกคาดหวังว่าจะสามารถช่วยเจรจาประนีประนอมความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

 

นอกจากที่กล่าวมานี้ กาตาร์ยังนับเป็นประเทศผู้ทรงอิทธิพลที่มีสำนักข่าวเป็นของตนเอง อย่างเช่น Al Jazeera ทั้งนี้ แม้ว่ากาตาร์อาจเผชิญกับความตึงเครียดทางการเมืองในฐานะตัวกลาง หรืออาจเคยขัดแย้งกับประเทศอื่นด้วยเช่นกัน แต่การวางตัวเป็นกลางและความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาก็ส่งเสริมให้กาตาร์ยังคงกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ และเป็นตัวกลางที่มักจะประสบความสำเร็จในการเจรจาได้มาจนทุกวันนี้ นับจากนี้ไป เราคงได้แต่จับตาดูกันต่อไปว่า กาตาร์จะมีบทบาทในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่กำลังลุกลามระหว่างอิสราเอลและฮามาสครั้งนี้อย่างไร

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] Al Jazeera. (October 23, 2023). Israel-Hamas war: Which countries have sent aid to Gaza so far?. Retrieved from https://www.aljazeera.com/news/2023/10/23/which-countries-have-sent-aid-to-gaza-so-far
[2] QNA. (September 16, 2023). /United Nations/ Qatar, UN: Half-Century Partnership of Servicing Humanity, Promoting Peace, Development. Retrieved from https://www.qna.org.qa/en/News-Area/News/2023-09/16/0019-united-nations-qatar,-un-half-century-partnership-of-servicing-humanity,-promoting-peace,-development
[3] Mia Venkat, Tinbete Ermyas, Mary Louise Kelly. (October 24, 2023). Qatar’s role in hostage negotiations. Retrieved from https://www.npr.org/2023/10/24/1208312659/qatars-role-in-hostage-negotiations
[4] The Wall Street Journal. (November 10, 2023). How Qatar Became the World’s Lead Hostage Negotiator | WSJ. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=fgqBOWL0Lpo
[5] สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา. (30 พฤศจิกายน 2565). ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับรัฐกาตาร์. สืบค้นจาก https://doha.thaiembassy.org/th/content/32895-ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับรัฐกาตาร์?page=5d7e6a3c15e39c032c006d72&menu=5d7e6a3c15e39c032c006d73

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน