ทัศนคติ

เคล็ดลับ 4 ข้อสู่การเป็นผู้ฟังที่ดี

เคล็ดลับ 4 ข้อสู่การเป็นผู้ฟังที่ดี

เคล็ดลับ 4 ข้อสู่การเป็นผู้ฟังที่ดี

 

การฟังอย่างมีคุณภาพนับเป็นศิลปะในการดำรงชีวิตที่สำคัญอย่างหนึ่ง ท่านผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินคำว่า ฟัง แต่ไม่ได้ยิน หรือได้ยิน แต่ว่าไม่เข้าใจ การฟังที่ไม่มีประสิทธิภาพก็มักจะเป็นเช่นนั้น ผู้พูดได้ส่งสารออกมา แต่ผู้ฟังกลับไม่รู้รู้ใจความทั้งหมดนั้น อาจเป็นเพราะสิ่งรบกวนภายนอกอย่างเช่นข้อจำกัดของเวลาและสถานที่ หรืออาจเป็นสิ่งรบกวนภายใน เช่น ความว้าวุ่นใจหรือการไม่สามารถจดจ่อได้ของผู้ฟัง ไม่ว่าปัจจัยรบกวนจะเป็นสิ่งใด ก็อาจส่งผลให้การฟังอย่างมีคุณภาพไม่เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น [1]

 

อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้ฟังที่ดีนับว่ามีประโยชน์มาก นอกจากจะทำให้ได้รับใจความครบถ้วน และการสื่อสารลุล่วงตามความต้องการของผู้พูดแล้ว ยังมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดและผู้ฟังดีขึ้น [2] ทั้งนี้ ในการจะเป็นผู้ฟังที่ดีได้นั้น TED-Ed [3] ได้นำเสนอเคล็ดลับไว้ 4 ข้อ ดังนี้

 

ข้อแรก พยายามให้ความสนใจกับการฟังอย่างแท้จริง โดยตัดสิ่งรบกวนออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อมีใครสักคนเดินเข้ามาหาและตั้งใจจะบอกเล่าเรื่องราวบางอย่าง สิ่งที่คนที่ตั้งใจจะฟังควรทำ คือการแสดงออกให้ผู้เล่าเรื่องรู้ว่าเรื่องของเขาจะได้รับการรับฟังอย่างเต็มที่ พยายามตัดสิ่งรบกวนต่าง ๆ ออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สิ่งรบกวนที่ว่านั้นได้แก่หูฟัง โทรศัพท์มือถือ หรืออะไรก็ตามที่แสดงให้เห็นว่าผู้ฟังกำลังให้ความสนใจกับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่เรื่องเล่าตรงหน้านั้น

 

ข้อสอง อย่าขัดจังหวะผู้เล่า เคล็ดลับข้อนี้สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการฟังที่มีคุณภาพ เพราะหลายครั้งผู้ฟังมักหลงลืมไปว่าผู้พูดกำลังเล่าอยู่ การขัดจังหวะอาจเป็นไปด้วยความไม่ตั้งใจ เป็นเพียงเจตนาที่ดีในการต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือการถามด้วยความอยากรู้ แต่การขัดจังหวะก็อาจทำให้ผู้พูดไม่ได้กล่าวในสิ่งที่ต้องการแต่แรกออกมา เพราะบทสนทนาได้ถูกเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้น หากผู้ฟังมีคำถามก็ควรหาจังหวะที่เหมาะสมในการกล่าวออกมา เช่น รอจนผู้พูดกล่าวจนจบและมีช่องว่าง จากนั้นผู้ฟังค่อยกล่าวสรุปสิ่งที่ผู้พูดกล่าวมาสั้นๆ แล้วค่อยถามคำถาม

 

ข้อสาม จดจ่ออยู่กับบทสนทนาตรงหน้าเท่านั้น ในการสื่อสาร แม้ว่าหูจะรับฟัง แต่สมองของคนฟังนั้นอาจกำลังคิดต่อยอดไปไกล ทั้งคิดเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคู่สนทนาตรงหน้าเลย หรือคิดที่จะตอบสนองต่อผู้พูด เช่น เมื่อผู้พูดกำลังเล่าว่ามีปัญหาที่ทำงาน ผู้ฟังก็อาจกำลังคิดเปรียบเทียบประสบการณ์ของตัวเองหรือคิดคำปลอบใจให้แก่ผู้พูด อย่างไรก็ตาม การคิดสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากการตั้งใจฟังกลายเป็นการลดประสิทธิภาพของการฟังลงไปอย่างน่าเสียดาย

 

ข้อสุดท้าย อย่ากลัวความเงียบ การฟังเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิสูงมาก และบางครั้ง ทั้งผู้พูดผู้ฟังก็อาจตกอยู่ในความเงียบ ในจังหวะที่ผู้พูดนิ่งไปเพื่อหยุดคิด ผู้ฟังอาจรู้สึกอึดอัด ไม่แน่ใจว่าบทสนทนาจบลงหรือยัง จึงพยายามหาทางที่จะพูดเรื่องอื่นขึ้นมาเพื่อทำลายบรรยากาศของความเงียบนั้น ทั้งที่จริงแล้ว ความเงียบก็เป็นส่วนหนึ่งของการสนทนา บางคราวผู้คนต้องหยุดเพื่อคิดทบทวนก่อนจะพูดสื่อสารในสิ่งที่ตกตะกอนมาแล้ว หากผู้ฟังต้องการมีส่วนช่วยให้การสนทนานั้นลื่นไหลไม่หยุดชะงัก อาจทำได้โดยการแสดงสีหน้าท่าทางที่สื่อให้เห็นว่าผู้ฟังกำลังรับฟังอยู่อย่างแท้จริง

 

เคล็ดลับในการฟังเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะเป็นผลดีในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง แต่ยังช่วยให้เนื้อหาใจความสำคัญที่ได้ฟังมาไม่ตกหล่นอีกด้วย หากท่านผู้อ่านได้นำเคล็ดลับเหล่านี้ไปใช้ ก็เชื่อได้ว่า การที่ผู้พูดได้ถ่ายทอดสารออกมาครบถ้วนโดยมีผู้ฟังที่ตั้งใจรับสารอย่างเต็มที่ ย่อมนำไปสู่การสื่อสารที่สำเร็จเต็มประสิทธิภาพได้อย่างแน่นอน

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อ้างอิง
[1] Bryant, A. (n.d.). How to Be a Better Listener. Retrieved from https://www.nytimes.com/guides/smarterliving/be-a-better-listener
[2] Ted-Ed. (2022). 4 things all great listeners know. Retrieved from https://ed.ted.com/lessons/4-things-all-great-listeners-know
[3] Ted-Ed. (November 21, 2022). 4 things all great listeners know. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=i3ku5nx4tMU&ab_channel=TED-Ed

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน