Emotional gap กับดักนักลงทุน เมื่อช่องว่างทางอารมณ์มีผลต่อการตัดสินใจ
คุณอาจเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า มีปัจจัยเพียงสองอย่างเท่านั้นที่ขับเคลื่อนตลาดการลงทุน คือความกลัวและความโลภ คำเปรียบเปรยนี้ ดูจะไม่เกินจริงนัก เพราะดูเหมือนว่านอกจากข้อมูลทางคณิตศาสตร์ หรือข้อมูลเชิงปริมาณแล้วนั้น อารมณ์เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงชั้นดี ที่คอยควบคุมทิศทางของนักลงทุน ความโลภทำให้คนกระโจนเข้าซื้อในขณะเดียวกันกับที่ความกลัวก็กระตุ้นให้คนเทขายสินทรัพย์
ในงานศึกษาทางจิตวิทยาพบว่า อิทธิพลของอารมณ์และอคติ ทั้งจากจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกนั้น ส่งผลต่อวิธีที่บุคคลคิด ตัดสินใจ และแสดงออก ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของมนุษย์ในเกือบจะทุกด้าน รวมไปถึงวิธีการใช้เงิน การออม และการลงทุนของคุณอีกด้วย ถึงแม้ว่า เราจะไม่สามารถกำจัดอารมณ์หรืออคติออกไปได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การทำความเข้าใจว่า ปัจจัยเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อตลาดการลงทุนอย่างไร ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยให้คุณ สามารถตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง ผ่านการพิจารณา จากข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องมากที่สุด โดยไม่ใช้แค่สัญชาตญาณหรืออารมณ์เพียงเท่านั้น
“Emotional gap” หมายถึงการตัดสินใจโดยอิงจากอารมณ์ ทั้งความกลัว ความโกรธ ความโลภ ความลำเอียง ความวิตกกังวลและความตื่นเต้น ซึ่งนับได้ว่า เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนตัดสินใจเลือกอย่างไม่มีเหตุผล ในความเป็นจริงแล้วนั้น มนุษย์ทุกคนมีอคติไม่ว่าจะตอนที่มีหรือไม่มีสติก็ตาม การเห็นตัวเลขสีแดงและกราฟที่ลดลงสามารถกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจที่เร่งรีบ เช่น ขายสินทรัพย์ทิ้งโดยขาดทุน ในทางกลับกัน ในช่วงที่ตลาดขาขึ้น อาจนำไปสู่ความมั่นใจที่มากเกินไปจนกลายเป็นความเสี่ยง เมื่อนักลงทุนติดกับดักจาก Emotional gap พวกเขาอาจตัดสินใจ โดยไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล ถึงแม้ว่านั่นจะขัดแย้งกับผลประโยชน์ของตนเองก็ตาม
หากเราสังเกตจะพบว่า ในหนังสือชี้ชวนการลงทุน มักจะประกอบไปด้วยประโยคที่ว่า “ผลการดำเนินงานในอดีต ไม่ได้บ่งบอกถึงผลตอบแทนในอนาคต” ซึ่งเป็นประโยคที่สามารถใช้เตือนใจนักลงทุนได้เป็นอย่างดีเสมอว่า ตลาดเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ดังนั้น จึงไม่ควรอิงกับอารมณ์เมื่อเห็นแนวโน้มตลาดกำลังเปลี่ยนทิศทาง
นอกจากนี้ คุณยังต้องทำความเข้าใจว่า การตัดสินใจเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันของระบบประสาทและร่างกาย โดย หากเรายิ่งกลัวหรือกังวลมาก สมองส่วน Amygdala ที่ทำหน้าที่ตอบสนองต่อความกลัวและกังวลจะยิ่งทำงาน โดยกระตุ้นให้ผลิตฮอร์โมนความเครียด หรือ คอร์ติซอล ออกมา ส่งผลให้ความสามารถในการควบคุมตัวเองและสติลดลงตามไปด้วย และทำให้เราสูญเสียความสามารถในการคิดหรือใช้เหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ
ดังนั้น กุญแจสำคัญในการหลีกเลี่ยงช่องว่างของอารมณ์ที่ดีที่สุด เมื่อตลาดเกิดความผันผวนคือการเรียนรู้วิธีจัดการอารมณ์แบบไม่คล้อยตาม โดยฝึกการรับรู้ถึงสิ่งที่คุณรู้สึกในขณะนั้น สามารถแยกแยะได้ระหว่างอารมณ์กับความเป็นจริง ไม่ตื่นตระหนกตกใจ ตื่นเต้นหรือกังวลจนเกินเหตุ พร้อมกับการใช้ชุดคำถามที่เน้นย้ำถึงเป้าหมายทางการลงทุนของคุณ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้น จะช่วยให้คุณวิเคราะห์ทางเลือกที่สอดคล้องกับแผนการลงทุนตามที่ตั้งใจไว้ได้
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
https://www.maherwm.com/blog/how-emotional-and-behavioral-barriers-may-impact-your-investing-decisions
https://www.indmoney.com/articles/personal-finance/understanding-behavioural-finance-how-emotions-affect-investment-decisions
https://www.researchgate.net/publication/331724126_Emotional_Finance_Plays_an_Important_Role_in_Investment_Decisions
https://weitzinvestments.com/resources/investor-education/a-102/how-emotions-can-cost-investors.fs
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :