ทัศนคติ

โดนไล่ออก รับมืออย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง

โดนไล่ออก รับมืออย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง

โดนไล่ออก รับมืออย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง

 

ความรู้สึกของคนลาออกกับโดนไล่ออกนั้นต่างกันลิบลับ การลาออกมาจากความคิดที่ว่าอย่างน้อยครึ่งหนึ่งในใจ เราก็เป็นคนตัดสินใจออก แต่การโดนไล่ออก มีความหมายทางความรู้สึก และส่งผลกระทบต่อคนคนหนึ่งได้อย่างมาก มันคือการสิ้นสุดของการได้รับรายได้ มันคือการว่างงาน มันคือการเหลือแต่รายจ่าย และอาจหมายรวมไปถึง ความรู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองลดลง รู้สึกด้อย การโดนไล่ออกไม่ใช่เรื่องที่ใครจะอยากพบ แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้ว คำถามคือเราจะรับมืออย่างไร

 

การไล่ออกนั้นมีกระบวนการ ฝ่ายที่จัดการเรื่องคนในบริษัทหรือองค์กรใด ๆ ก็ตาม ต้องแจ้งพนักงานให้ทราบก่อนวันสุดท้ายที่มาทำงาน สิ่งแรกที่ควรทำก่อนที่จะปล่อยเบลอ คือการพยายามต่อรองกับองค์กรก่อน มีหลายอย่างที่สามารถลองต่อรองได้ เพื่อลดผลกระทบในแง่ลบของคนที่ถูกไล่ออก เช่น การขอเงินชดเชยกรณีเลิกจ้าง หรือในกรณีที่งานยังไม่จบ ก็ขอรับเงินตอบแทนในฐานะฟรีแลนซ์ที่ต้องทำงานชิ้นนึงให้สำเร็จ หรือขอเปลี่ยนสถานะเป็นการลาออกเอง

 

แน่นอนว่าความรู้สึกจากการโดนไล่ออก แม้อาจเจรจาขอเปลี่ยนสถานะเป็นการลาออกเอง ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังและเสียใจอยู่ดี สำหรับคนที่ต้องเผชิญสถานการณ์เช่นนี้ การให้เวลาทบทวนสิ่งที่ตัวเองได้ทำพลาดลงไป เป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คือการกลับมาตั้งคำถามใหม่อีกครั้ง ว่าในอนาคตต่อไป เรามีอะไรดีในตัวเรา งานแบบไหนที่เราจะทำมันได้ดี เราจะอุดรูรั่วในตัวเองยังไง

 

ถึงแม้ว่าจะถูกเชิญให้ออก แต่ไม่ได้หมายความว่าบริษัทเกลียดเรา หรือพนักงานทุกคนจะเกลียดเรา การถูกไล่ออกนั้นมาจากเหตุผลหลากหลายรูปแบบ สำหรับคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ก็ยังน่าติดต่อกันไว้ ไม่ว่าคุณจะทำงานในสายงานเดิมต่อในองค์กรใหม่ หรือย้ายสายงาน ความสัมพันธ์เหล่านี้ก็อาจเป็นประโยชน์ในอนาคต

 

สิ่งสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดว่า ออกจากที่นี่แล้ว แล้วจะไปไหนต่อ คือประวัติการทำงาน ทั้งในรูปแบบของ resume หรือ CV การกลับมาที่กระบวนการนี้ไม่ใช่แค่การแก้ไขเอกสารเพื่อสมัครงานต่อ แต่เป็นการวิเคราะห์และตกตะกอนกับตัวเองจริง ๆ ดึงข้อดีและข้อเสียที่เห็นในชิ้นงานเก่า ๆ ที่เคยทำออกมา แล้วดีไซน์เส้นทางเดินต่อไปของตัวเอง

 

แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกคนที่โดนไล่ออกจะมีงานใหม่มารองรับทันที เมื่อได้รับแจ้งจากองค์กรแล้ว ต้องวางแผนการเงินให้ดี รัดกุม ด้วยความระวังว่าเราไม่รู้เลยว่าจะได้งานใหม่เมื่อไหร่ การบริหารความเสี่ยงทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่น่าปวดหัว แต่มีผลกระทบต่อชีวิต ทั้งตัวเราเอง และคนที่พึ่งพาอาศัยรายรับของเรา

 

สุดท้ายแล้ว การจมอยู่กับความผิดหวังไม่สามารถพาใครเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ แน่นอนว่าเวลาเป็นสิ่งสำคัญ การได้รับการพักผ่อน การจัดการความเครียดและความผิดหวัง การพยายามเริ่มต้นใหม่ เหล่านี้เป็นกระบวนการล้มแล้วลุก ที่อาศัยเวลา และตัวช่วยหลาย ๆ อย่างประกอบเข้าด้วยกัน

 

อย่าลืมว่า ทุกอย่างไม่ได้สิ้นสุดอยู่ตรงนี้ หลังจากเจรจาจบขั้นตอนกับที่ทำงานเก่า ผ่านการรับมือกับอารมณ์ความรู้สึก การวางแผนเพื่อปรับปรุงจุดที่ยังทำได้ไม่ดีต่าง ๆ หากเรายังหาโอกาสให้กับชีวิตการทำงานของตัวเองไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งเรื่องนี้ก็จะมีก้าวต่อไปได้เช่นกัน

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อ้างอิง
ThaiSMEsCenter, 10 เรื่องที่ควรทำหลังโดนไล่ออกจากงาน, อ้างอิงจาก http://www.thaismescenter.com/10-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99/
ไทยรัฐออนไลน์, รับมืออย่างไรเมื่อโดนไล่ออก, อ้างอิงจาก https://www.thairath.co.th/lifestyle/woman/585040
LineToday, 5 สิ่งที่ควรทำเมื่อโดนไล่ออกจากงาน, อ้างอิงจาก https://today.line.me/th/v2/article/Vmwr7J

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน