ทำงานยากให้สำเร็จ ด้วยหลักทางจิตวิทยา
การที่เราจะทำงานยาก ๆ สักหนึ่งชิ้น ให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยการอุทิศตนให้กับความสม่ำเสมอและไม่ยอมแพ้ แต่ใช่ว่าใคร ๆ ก็จะทำได้ เพราะดูเหมือนว่าสมองของเรานั้น จะไม่ค่อยชอบเรื่องที่ดูยุ่งยากและซับซ้อนเท่าไรนัก
ภายใต้หลักการทางจิตวิทยาพบว่า การจะบรรลุเป้าหมายใดก็ตามประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญที่เรียกว่า “แรงจูงใจ” เป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยผลักดันให้คุณไม่หยุดลงมือทำ แม้จะมีอุปสรรคก็ตาม โดยสามารถแยกเป็น 2 ประเภทคือแรงจูงใจภายใน ที่หมายความถึงปัจจัยผลักดันให้เกิดการเติบโตส่วนบุคคล เช่น ความต้องการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ และแรงจูงใจภายนอก ที่หมายถึงปัจจัยผลักดันจากภายนอก เช่น ชื่อเสียง เงินทอง การได้รับการยอมรับจากสังคม เป็นต้น
ภายใต้ทฤษฎีทางจิตวิทยาที่อยู่เบื้องหลังแรงจูงใจนั้น มีวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องของสารสื่อประสาทอย่าง “โดปามีน” หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ “สารเคมีแห่งความสุข” ซึ่งจะหลั่งออกมา เมื่อเราบรรลุเป้าหมาย หรือได้ทำกิจกรรมที่พึงพอใจมาก ๆ เช่น การได้ใช้ช่วงเวลาที่แสนพิเศษกับคนรัก การท่องเที่ยวไปยังสถานที่ใหม่ ๆ การรับประทานอาหารอร่อย ๆ หรือการได้ทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ เป็นต้น
แต่ทั้งนี้นั้น ปริมาณของโดปามีนที่หลั่งออกมาจะ ต้องอยู่ในระดับที่พอดี ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป เพราะหากน้อยเกินไป อาจมีผลให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ ในขณะที่ปริมาณโดปามีนที่สูงเกินไป ก็อาจทำให้ร่างกายตอบสนองออกมาในรูปแบบของความเครียดและวิตกกังวลแทน
เมื่อเราเข้าใจการทำงานระบบประสาทของสมอง ก็จะทำให้เราสามารถมองหาวิธีการ ที่จะกระตุ้นให้โดปามีนหลั่ง เพื่อสร้างแรงจูงใจที่จะนำไปสู่เป้าหมายใหญ่ ๆ หรือการทำงานยาก ๆ สักงานให้สำเร็จ โดยทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับการฝึกสมองเพื่อให้โดปามีน ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางมากขึ้น ซึ่งวิธีการที่ถือได้ว่าเป็นพื้นฐานและง่ายที่สุด ก็คือการซอยย่อยเป้าหมายใหญ่ออกเป็นเป้าหมายเล็ก ๆ วิธีการนี้จะทำให้เราเข้าถึงเป้าหมายระหว่างทางได้ง่ายกว่า แถมยังช่วยให้สมองรู้สึกว่าเข้าใกล้ความสำเร็จไปทีละขั้น ในขณะที่การมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายสุดท้ายโดยตรงเลย อาจทำให้สมองปฏิเสธการลงมือทำ เพียงเพราะสมองไม่อยากให้เราทำงานหนักนั่นเอง
ดังนั้น ทุกครั้งที่เราบรรลุเป้าหมายย่อย ก็จะทำให้สมองหลั่งโดปามีนออกมาสร้างความรู้สึกดี ๆ และความสุข และนั่นจะกลายเป็นแรงกระตุ้น ที่สามารถขับเคลื่อนพฤติกรรมการลงมือทำของเราต่อไปเรื่อย ๆ และไม่หยุดกลางคัน
นอกจากนี้ การพยายามรักษาระดับโดปามีนไม่ให้ลดลงระหว่างทาง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง วิธีการง่าย ๆ คือพยายามให้รางวัลตัวเองเป็นระยะ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ อาจเป็นเพียงแค่การได้ออกไปทานกาแฟอร่อย ๆ สักแก้วในร้านบรรยากาศดี ๆ ซึ่งการเฉลิมฉลองความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างทาง จะทำให้คุณไม่รู้สึกเบื่อหน่ายไปเสียก่อน และนี่จะทำให้เป้าหมายยาก ๆ สำเร็จได้ง่ายขึ้น
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
https://www.forbes.com/sites/forbescoachescouncil/2019/03/26/the-neuroscience-of-motivation-how-our-brains-drive-hard-work-and-achievement/
https://www.psychologs.com/the-psychology-behind-hard-work/
https://www.hubermanlab.com/episode/how-to-increase-motivation-and-drive
https://www.marcelruizmejiaswriter.com/blog/dopamine-learning-and-motivation-why-does-this-molecule-drive-our-life-forward
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :