อดทนอย่างไรภายใต้ความกดดัน คำแนะนำจาก Noa Kageyama และ Pen-Pen Chen
ความกดดันเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงในชีวิต ยิ่งเติบโตและแบกรับความรับผิดชอบมากมายเท่าไหร่ น้ำหนักของความกดดันก็ทับโถมลงมามากขึ้นเท่านั้น ความกดดันไม่ได้ส่งผลดี แต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าที่จะรับมือ ในครั้งนี้ ลงทุนศาสตร์ขอนำเสนอรูปแบบของความกดดันที่ส่งผลต่อการทำงาน รวมทั้งวิธีการรับมือกับความกดดันอย่างมีประสิทธิภาพ ตามคำแนะนำของ Noa Kageyama นักจิตวิทยาศักยภาพชาวญี่ปุ่น และ Pen-Pen Chen นักพูดบำบัดสองภาษาชาวจีน ดังต่อไปนี้ [1, 2, 3]
ความกดดันที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน คือความรู้สึกอึดอัดกังวลใจที่ทำให้ความสามารถในการทำงานลดน้อยลง ตัวอย่างที่ชัดเจนของการทำพลาดภายใต้ความกดดัน คือการทำเล่นภายใต้ความกดดันไม่ได้ หรือที่เรียกกันว่า “choking” ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปสำหรับนักกีฬา แม้จะผ่านการฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี แต่เมื่อตกอยู่ภายใต้การถูกจับจ้องของผู้คน ต้องอดทนกับความคาดหวังของทั้งผู้อื่นและตนเอง นักกีฬากลับเล่นไม่ออก เช่นเดียวกับนักพูดในที่สาธารณะที่อาจพูดตะกุกตะกัก หรือนักดนตรีที่เล่นได้ไม่ดีต้องแสดงท่ามกลางคนหมู่มาก
สิ่งที่ทำให้ความกดดันกลายเป็นการทำลายประสิทธิภาพของการทำงาน อธิบายได้ตามทฤษฎีสิ่งรบกวน (distraction theory) ยิ่งผู้คนจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ก่อให้เกิดความกังวลใจ ความสงสัย ความกลัว ก็ยิ่งทำให้เป้าหมายที่ต้องการทำยุ่งยากมากขึ้นเท่านั้น ผู้คนที่ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่น่าอึดอัดกังวลมักมีอาการทางกายร่วมด้วย ทั้งการหายใจหอบถี่ เหงื่อซึมมือ และอาจส่งผลให้จดจำรายละเอียดได้ลดน้อยลง นอกจากนี้ สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีการเฝ้าสังเกตที่มากเกินไป (explicit monitoring theory) ความกดดันทำให้ผู้คนเพ่งความสนใจในรายละเอียดมากเกินพอดีเพราะกลัวความผิดพลาด แต่กลับยิ่งส่งผลให้เกิดการทำงานมีประสิทธิภาพลดน้อยลง
วิธีการรับมือกับความกดดันที่เกิดขึ้น สามารถทำได้โดยการฝึกทำงานภายใต้ความกดดันให้เคยชิน หากต้องพบเจอกับความกดดัน ขอให้ลองทำความเข้าใจและตั้งสติ มองไปที่ภาพรวมของการทำงานมากกว่าจะสนใจรายละเอียดปลีกย่อย ทุ่มความสนใจไปยังจุดมุ่งหมาย ตัวอย่างเช่น นักกีฬาตีกอล์ฟควรมองไปยังเป้าหมายในการตีลูกให้ลงหลุม แทนที่จะกังวลกับการขยับแขนเพื่อทำวงสวิง นอกจากนี้ ขอให้ลองฝึกที่จะควบคุมจิตใจให้สงบได้ก่อนที่จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน เช่น การทำสมาธิ หายใจเข้าออกลึก ๆ พูดคำที่ทำให้จิตใจสงบ เช่นในกรณีของนักดนตรีที่อาจมีการรวมตัวกันกอดคอพูดชื่อวงก่อนทำการแสดง หรือการออกกำลังกายในท่าซ้ำ ๆ ที่ช่วยให้จิตใจนิ่งสงบขึ้น
การอยู่ท่ามกลางความกดดันอาจไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอีกต่อไป หากเราเลือกมองไปยังจุดหมายปลายทาง ฟังเสียงของตัวเอง รู้ตัวว่ากำลังทำอะไร และเลือกที่จะเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำโดยไม่สนใจความกดดันใดใด ลงทุนศาสตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านที่กำลังเผชิญกับความกดดันจะสามารถผ่านพ้นทุกสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ไปได้ด้วยความอดทน และประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่มุ่งหวังอย่างงดงาม
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
[1] TED-Ed. (May 21, 2018). How to stay calm under pressure – Noa Kageyama and Pen-Pen Chen. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=CqgmozFr_GM
[2] Juilliard. (n.d.). Noa Kageyama. Retrieved from https://www.juilliard.edu/music/faculty/kageyama-noa
[3] speech buddies. (2025). Pen-Pen Chen. Retrieved from https://www.speechbuddy.com/speech-therapy/profile/76856e22a44c1749/pen-pen-chen?srsltid=AfmBOoqKueXr9DGhVJjKD8COFRGETXS1VcjAqc4-K8TlPoPdgzs-c0wN
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :