สังคมศาสตร์

Black Swan เมื่อสิ่งที่ไม่คาดคิดกลับมีจริง

Black Swan เมื่อสิ่งที่ไม่คาดคิดกลับมีจริง

Black Swan เมื่อสิ่งที่ไม่คาดคิดกลับมีจริง

 

“โลกเราเต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่ยากจะคาดเดา ซึ่งสร้างผลกระทบมหาศาล คล้ายกับหงส์ดำที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางหงส์ขาว”

 

คงเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดของใครหลายคน เมื่อประเทศไทยประสบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนสะกาย ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 ซึ่งถือได้ว่าเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ  90 ปีที่ไทยเคยเจอมา นับจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่จังหวัดน่านในปี พ.ศ. 2478 

 

จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ก็สร้างความเสียหายทั้งด้านทรัพย์สินและคร่าชีวิตของผู้คนไปจำนวนไม่น้อย ส่งผลกระทบทั้งด้านความเชื่อมั่น สังคม ระบบขนส่ง เศรษฐกิจ ไปจนถึงตลาดหุ้น  หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยคิดว่าในชีวิตจะได้เจอกับแผ่นดินไหวในช่วงชีวิตของตัวเอง อาจเรียกได้ว่านี่คือหนึ่งในเหตุการณ์หงส์ดำ (Black Swan Event)ของไทยได้เลยทีเดียว

 

ย้อนไปในอดีตราวหลายร้อยปีที่แล้ว ถ้ามีใครสักคนบอกว่าบนโลกนี้มีหงส์ดำคงเป็นเรื่องที่ใครๆต่างก็คงจะบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนในยุโรปยุคสมัยนั้นเชื่อกัน นั่นเป็นเพราะไม่เคยมีใครพบเจอหงส์สีอื่นเลยนอกจากหงส์สีขาว และมีการใช้คำว่า “หงส์ดำ” แทนสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งหลักฐานการกล่าวถึงหงส์ดำที่เก่าแก่ที่สุด มาจากบทกวี Satire VI ของชาวโรมัน Juvenal ในบรรทัด “rara avis in terris, nigroque simillima cygno” ที่แปลได้ว่า “นกที่หายากบนโลก เหมือนกับหงส์ดำ” 

 

แต่แล้วในปี ค.ศ. 1697 นักสำรวจชาวดัตช์ Willem de Vlamingh และคณะกลับพบหงส์สีดำ  (Cygnus atratus) เป็นครั้งแรกในทวีปออสเตรเลีย ซึ่งได้กลายเป็นสิ่งที่ลบล้างความเชื่อเดิมจนหมดสิ้น นี่จึงเป็นที่มาของการเปรียบเปรยเหตุการณ์ที่ยากจะเกิดขึ้น ว่าเป็นเสมือนกับหงส์ดำ หรือ Black Swan Event

 

ส่วนคำว่า Black Swan จริง ๆ แล้วเพิ่งจะเริ่มมาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จากหนังสือ The Black Swan: The Impact of the Highly Improbable ของ Nassim Nicholas Taleb ที่เป็นทั้งนักเศรษฐศาสตร์ นักเขียน และอดีตนักเทรดวอลล์สตรีท โดยที่เริ่มต้นเขาได้ศึกษาเหตุการณ์หงส์ดำในบริบทของตลาดการเงิน ก่อนที่จะขยายไปยังเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ สังคม วิทยาศาสตร์ และอื่น ๆ 

 

Taleb ได้กล่าวไว้ถึงปัจจัยสามอย่างของเหตุการณ์หงส์ดำ ว่าประกอบไปด้วย

1.ไม่สามารถคาดเดาได้

2.ส่งผลกระทบรุนแรง

3.เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว จึงจะสามารถหาเหตุผลมาอธิบายย้อนหลังได้

หนึ่งในเหตุการณ์หงส์ดำ ที่มักจะถูกยกมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้งคือ  เหตุการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ล่มสลายในปี ค.ศ. 2008 ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ Taleb ตีพิมพ์หนังสือ The Black Swan: The Impact of the Highly Improbable ออกมา ได้เพียง 1 ปี ซึ่ง ณ เวลานั้น ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าวิกฤตการณ์สินเชื่ออสังหาครั้งนี้ จะร้ายแรงจนถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก

 

เราอาจจะคิดว่าเหตุการณ์หงส์ดำ  ต้องสร้างผลกระทบในเชิงลบเพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงนั้นยังหมายถึงเหตุการณ์อื่น ๆ ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกด้วย เช่น การเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลให้กับผู้คน

 

ในอนาคต อาจจะมีหงส์ดำอีกหลายตัวที่รอเวลาปรากฏตัว การเตรียมพร้อมคือสิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถรับมือและบริหารความเสี่ยง ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

https://www.britannica.com/topic/black-swan-event
https://www.investopedia.com/terms/b/blackswan.asp
https://corporatefinanceinstitute.com/resources/economics/black-swan-event/
https://www.thaipost.net/news-update/763802/

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน