ทัศนคติ

ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งคืออะไร

ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งคืออะไร

ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งคืออะไร

 

หลายคนอาจเคยได้ยินคำนี้ แต่เราลองมามองทฤษฎีนี้ผ่านสายตาขององค์กร และนำมาปรับใช้ดู จะทำให้เห็นได้ว่าทฤษฎีนี้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาคนอย่างมาก บทความชิ้นนี้จะอธิบายถึงรายละเอียดของภูเขาน้ำแข็งก่อน แล้วหลังจากนั้นจะพูดถึงการประยุกต์ใช้อีกที

 

ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งเป็นทฤษฎีที่ Dr.David McClenlland เป็นผู้คิดค้น ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบบุคลิกของคนกับภูเขาน้ำแข็ง เพื่อมองถึงสมรรถนะของแต่ละบุคคลในการปฏิบัติงานในองค์กร หรือก็คือเปรียบคนกับภูเขาน้ำแข็งนั่นเอง โดยในส่วนที่อยู่เหนือน้ำนั้นเป็นส่วนที่สังเกตและวัดได้ง่าย และส่วนที่อยู่ใต้น้ำซึ่งเป็นส่วนที่มีมากกว่า จะทำการสังเกตและวัดได้ยากกว่า แต่มันก็เป็นสิ่งจำเป็นจะต้องมีแรงผลักดันเบื้องลึกเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในการทำงานนั่นเอง

 

แต่ไม่ว่าจะเป็นภูเขาน้ำแข็งในรูปแบบใด เราก็จะเห็นภาพเป็นภูเขาน้ำแข็งที่มีทั้งส่วนที่มองเห็นได้และมองเห็นไม่ได้ ซึ่งภูเขาน้ำแข็งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับสมรรถนะ ด้วยการอธิบายสมรรถนะด้วยทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งของ Spencer และ Spencer (1993) ที่ต่อยอดแนวคิดสมรรถนะของ David McClleland (1974) โดยเปรียบเทียบองค์ประกอบของสมรรถนะกับภูเขาน้ำแข็ง กล่าวคือ สมรรถนะสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

 

1. ส่วนที่มองเห็น (ส่วนที่อยู่เหนือน้ำ) เป็นส่วนที่มองเห็นและพัฒนาได้ง่าย ประกอบด้วย

1.1 ทักษะ (Skills) คือ ความสามารถในการทำงานทั้งทางร่างกาย และจิตใจ เช่น ทักษะการพูด ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการวางแผน เป็นต้น
1.2 องค์ความรู้ (Knowledge) คือ ความรู้เฉพาะด้าน เช่น ความรู้คณิตศาสตร์ ความรู้ด้านการใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

 

2. ส่วนที่มองไม่เห็น (ส่วนที่อยู่ใต้น้ำ) เป็นส่วนที่มองไม่เห็น เปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาได้ยาก และส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม

2.1 บทบาททางสังคม (Social Role) คือ บทบาท หน้าที่ หรือความรับผิดชอบที่ได้รับอิทธิพลค่านิยมที่แต่ละคนต้องการให้สังคมรับรู้ตัวตนของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร เช่น อยากให้คนอื่นมองว่าตนเองมีความเป็นผู้นำเมื่อได้รับบทบาทหัวหน้า เป็นต้น (Wei Lin, Cao Shan, & Song Yu , 2014)
2.2 ภาพลักษณ์ภายใน (Self-image) คือ ทัศนคติ ค่านิยม และความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตนเอง หรือสิ่งที่แต่ละคนเชื่อว่าตนเองเป็น เช่น การที่คนมีความเชื่อว่าตนเองเป็นคนมีความมั่นใจ เป็นต้น
2.3 อุปนิสัย (Trait) คือ บุคลิกลักษณะประจำตัวที่อธิบายถึงแต่ละคน เป็นสิ่งที่ใช้ตอบสนองต่อสถานการณ์ในชีวิตประจำวันอยู่ตลอดจนเกิดความเคยชิน เช่น ลักษณะที่เป็นคนง่าย ๆ มีความยืดหยุ่น เป็นต้น
2.4 แรงจูงใจ (Motive) คือ แรงจูงใจหรือแรงขับภายในที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่มุ่งไปสู่สิ่งที่เป็นเป้าหมายของแต่ละคน เช่น การตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย และพยายามทำให้สำเร็จตามที่ตั้งไว้ เป็นต้น

 

ประโยชน์ของทฤษฎีนี้ต่อองค์กรคือ
1. ช่วยให้สามารถคัดเลือกบุคคลที่มีลักษณะดี ทั้งความรู้ทักษะและความสามารถตลอดจนพฤติกรรมที่เหมาะสมกับงาน
2. ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานทราบถึงระดับความสามารถของตัวเองว่าอยู่ในระดับใดและจะต้องพัฒนาในเรื่องใดบ้าง
3. ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาฝึกอบรมแก่พนักงานในองค์กร
4. ช่วยสนับสนุนให้ตัวชี้วัดหลักของผลงานให้สามารถบรรลุเป้าหมาย
5. ป้องกันไม่ให้ผลงานเกิดจากโชคชะตาเพียงอย่างเดียว ซึ่งถ้าหากมีการวัดสมรรถนะแล้ว จะทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ปฏิบัติงานคนใดจะสามารถประสบความสำเร็จเพราะโชคช่วยหรือด้วยความสามารถของเขาเอง
6. ช่วยให้เกิดการหล่อหลอมไปสู่สมรรถนะขององค์กรที่ดีขึ้น

 

ดังนั้น เราจึงสามารถอธิบายได้ว่าคุณลักษณะของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง สามารถเปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในน้ำ โดยมีส่วนหนึ่งที่จะลอยอยู่เหนือน้ำซึ่งสามารถสังเกตและวัดได้ง่าย และยังเป็นส่วนของทักษะ สำหรับส่วนของภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ใต้น้ำซึ่งเป็นส่วนที่มีมาก แต่ไม่สามารถสังเกตได้ชัดเจนและวัดได้ยากกว่า รวมถึงยังเป็นส่วนที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคลได้มากกว่าอีกด้วย

 

นอกจากนี้ การที่บุคคลใดจะมีความฉลาดสามารถเรียนรู้ในความรู้และทักษะได้นั้น ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้การทำงานออกมาได้ดี จึงจำเป็นที่จะต้องมีแรงผลักดันเบื้องลึก ซึ่งจะช่วยทำให้บุคคลกลายเป็นผู้ที่มีผลงานโดดเด่นได้

 

ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งจะเป็นทฤษฎีที่สามารถอธิบายการทำงานของผู้ปฏิบัติงานและผู้อยู่รอบข้างได้อย่างดี และยังช่วยทำให้เราสามารถเข้าใจและนำไปพัฒนาสมรรถนะในการทำงานได้ในเวลาต่อมา เราจึงถือได้ว่าทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งเป็นทฤษฎีที่จะช่วยทำให้การทำงานในองค์กรเป็นไปได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จได้อย่างง่ายดายนั่นเอง

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อ้างอิง
Ocsb, คุณรู้จัก Competency ดีแค่ไหน, อ้างอิงจาก http://www.ocsb.go.th/upload/contents/20/attachfiles/F6523_250708.pdf
001Network, Knowledge Management, ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง, อ้างอิงจาก http://001newwork.blogspot.com/2012/09/blog-post_29.html
EdVisory, ภูเขาน้ำแข็งแห่งสมรรถนะ, อ้างอิงจาก https://medium.com/edvisory/%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%82%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B8%99%E0%B8%B0-competency-iceberg-bddbdbebcef7
Babcn.net, ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งคืออะไร, อ้างอิงจาก https://babcn.net/what-is-the-iceberg-theory/

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน