ทัศนคติ

เพราะเวลามีค่าดั่งทอง เคล็ดลับการบริหารเวลาสำหรับผู้ทำงานด้านการเงิน

เพราะเวลามีค่าดั่งทอง เคล็ดลับการบริหารเวลาสำหรับผู้ทำงานด้านการเงิน

เพราะเวลามีค่าดั่งทอง เคล็ดลับการบริหารเวลาสำหรับผู้ทำงานด้านการเงิน

 

ในโลกที่แต่ละวันทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน การบริหารจัดการเวลาให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดนับเป็นเคล็ดลับสำคัญที่ช่วยให้แต่ละคนประสบความสำเร็จได้ตามที่ใจมุ่งหวัง อย่างไรก็ตาม เวลาที่ทุกคนได้รับเท่ากันไม่ได้ถูกใช้ไปอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อต่างคนต่างก็มีภาระที่ทำให้ต้องใช้เวลาจัดการไม่เหมือนกัน หากเราพิจารณาโลกการทำงานของเหล่าผู้ทำงานด้านการเงินแล้วก็จะยิ่งพบว่า ภาระงานของคนกลุ่มนี้แทบจะมีล้นมือตลอดเวลา งานของคนที่ทำงานด้านการเงิน เช่น ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้จัดการกองทุน นักเทรดหุ้นทั้งหลาย ล้วนต้องคอยวิ่งตามข่าวสาร และติดต่อระหว่างผู้คนอยู่เสมอ ในครั้งนี้ ลงทุนศาสตร์จึงขอนำเสนอเคล็ดลับสำหรับการจัดการเวลาสำหรับผู้ทำงานด้านการเงิน ดังต่อไปนี้ [1, 2, 3]

 

เคล็ดลับข้อแรก คือการวางแผนสิ่งที่ต้องทำให้ชัดเจนไว้ล่วงหน้า ผู้ทำงานด้านการเงินมักต้องรับมือกับข้อมูลที่หลากหลาย รวมถึงงานเล็กน้อยที่แทรกเข้ามาอยู่เสมอ การวางแผนงานสำคัญที่ต้องทำไว้ล่วงหน้าจะมีส่วนช่วยให้เห็นภาพรวมของงานทั้งหมดที่ต้องทำได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น และช่วยเตือนตัวเองให้ไม่เสียสมาธิไปกับการทำเรื่องที่ไม่จำเป็น ตัวอย่างเช่น เมื่อถึงวันอาทิตย์ นักลงทุนอาจเริ่มวางแผนกิจกรรมและงานที่ต้องทำในหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า คิดและจัดลำดับสิ่งที่ควรต้องทำ และตัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นออกไป

 

เคล็ดลับข้อต่อมา คือการจัดลำดับความสำคัญ งานทุกอย่างไม่ได้เรียกร้องให้ต้องทำจนเสร็จในเวลาเดียวกัน และงานทุกชิ้นก็ไม่ได้สำคัญเท่ากัน ผู้คนมากมายติดกับดักความคิดว่าต้องทำงานให้ได้ในปริมาณมากต่อวัน ทั้งที่ในความจริง งานที่ทำสำเร็จจำนวนมากไม่ได้หมายถึงผลงานที่มีคุณภาพเสมอไป ในโลกของผู้ที่ทำงานด้านการเงิน ข้อมูลมากมายไม่ได้จำเป็นในการทำงานทั้งหมด ผู้ที่ทำงานด้านนี้ควรรู้จักเลือกทำงานสำคัญในช่วงเวลาที่มีอยู่ เลือกรับข้อมูลที่จำเป็น จัดการงานที่เร่งด่วนและสำคัญก่อนที่จะใช้เวลากับงานอื่นที่อาจสำคัญ แต่ยังรอเวลาได้

 

เคล็ดลับข้อสุดท้าย คือการลองจับเวลาดูว่าตนเองหมดเวลาไปกับงานประเภทใดมากเกินไปหรือเปล่า การทำงานอย่างทุ่มเทจำเป็นต้องใช้เวลา แต่ก็ควรระวังไม่ให้เวลาที่เสียไปนั้นมากมายจนเกินไป ผู้คนที่ทำงานมักไม่ได้สังเกตว่าเวลาที่เสียไปหมดลงกับงานใด ในจำนวนเท่าไหร่ หากลองพิจารณาดูว่าเวลาทำงานหมดไปกับสิ่งใดแล้ว อาจจะได้เห็นภาพรวมของการจัดการเวลา และบริหารการใช้เวลาได้ดียิ่งขึ้น วิธีคิดดังกล่าวนี้ไม่ต่างจากการลองทำบัญชีการเงินเพื่อให้เห็นภาพรวมของรายรับรายจ่ายเพื่อปรับแผนทางการเงิน เพียงแต่เปลี่ยนจากเงินเป็นเวลาเท่านั้นเอง

 

เคล็ดลับที่แนะนำในครั้งนี้ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะเพียงผู้ที่ทำงานทางด้านการเงินเท่านั้น หากแต่ยังสามารถประยุกต์ใช้กับการจัดการเวลาสำหรับผู้คนในทุกแขนงวิชาชีพ ลงทุนศาสตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านทั้งหลาย ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด ก็ล้วนสามารถแบ่งเวลาและรักษาสมดุลในชีวิตไว้ได้ มีเวลามากเพียงพอสำหรับลงทุนทางการเงิน และลงทุนสำหรับชีวิตได้ดังใจต้องการ

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] Marvin Dumont. (January 13, 2023). Time Management Tips for Financial Professionals. Retrieved from https://www.investopedia.com/articles/financial-careers/08/time-management-financial-career.asp
[2] Thomas Loza. (February 20, 2023). 3 Practical Time Management Tips for Investors. Retrieved from https://www.lozabeck.com/blog/3-practical-time-management-tips-for-investors
[3] Rebecca Lake. (May 23, 2024). Time Management Strategies and Tips for Financial Advisors. Retrieved from https://smartasset.com/advisor-resources/time-management-for-financial-advisors

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน