ทัศนคติ

ปัญหาจากการเป็นคน “ดีเกินไป” ในที่ทำงาน และแนวทางแก้ไข ในมุมมองของ Tessa West

ปัญหาจากการเป็นคน “ดีเกินไป” ในที่ทำงาน และแนวทางแก้ไข ในมุมมองของ Tessa West

ปัญหาจากการเป็นคน “ดีเกินไป” ในที่ทำงาน และแนวทางแก้ไข ในมุมมองของ Tessa West

 

การเป็นคนดีไม่ใช่เรื่องผิด แต่การเป็นคนดีอาจไม่ได้นำพาสิ่งที่ดีมาให้เสมอไป หากการดีเกินไปนำพาปัญหามาให้ ในมุมมองของ Tessa West นักจิตวิทยาสังคมผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารระหว่างบุคคล การเป็นคนดีมากจนเกินไปในบริบทของการทำงานอาจนำมาซึ่งความขัดแย้ง แทนที่จะช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในที่นี้ ลงทุนศาสตร์ขอนำเสนอความหมายของคำว่า “ดีเกินไป” และแนวทางแก้ไขปัญหา ตามคำแนะนำของ Tessa West ดังนี้ [1, 2, 3]

 

คำว่า “ดีเกินไป” ในมุมมองของ Tessa West หมายถึงความดีที่มีที่มาจากความกังวล (anxious niceness) Tessa West เสนอว่า การทำดีของผู้คนที่เกิดจากความกังวล เป็นการพยายามทำดีเพราะกลัวว่าจะทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ หรือทำร้ายความรู้สึกของอีกฝ่าย ทั้งที่อยู่ในสถานการณ์ที่ควรจะสื่อสารความจริงอย่างตรงไปตรงมา เช่นการให้ข้อเสนอแนะในการประชุมงาน จากการทดลองที่เธอได้เชิญให้ผู้คนลองทำกิจกรรมร่วมกันหลากหลายรูปแบบที่ผ่านมา เธอค้นพบว่าผู้คนพยายามใช้ถ้อยคำที่ดีเพื่อรักษาความรู้สึกของอีกฝ่ายเสมอ เช่นการบอกว่าพวกเขาทำได้ดีแล้ว แม้จะอยู่ในบริบทที่อีกฝ่ายทำได้ไม่ดีเลย 

 

การเป็นคนดีในลักษณะนี้ดูเหมือนจะมีประโยชน์ในการรักษาความสบายใจของตัวเอง หลีกเลี่ยงการปะทะกับผู้อื่นโดยตรง อย่างไรก็ตาม ความดีประเภทนี้ไม่ได้ส่งผลดีต่อประสิทธิภาพในการทำงานแม้แต่น้อย หากพิจารณาถึงสถานการณ์การทำงานที่อีกฝ่ายรอจะได้คำแนะนำอันเป็นประโยชน์ ความดีที่เป็นแค่คำปลอบใจไม่อาจก่อให้เกิดประโยชน์ใดใดได้ ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาในองค์กร ผู้คนที่ไม่ได้รับคำแนะนำที่จริงใจย่อมไม่มีทางรู้ตัวว่าควรปรับปรุงสิ่งใดเพิ่มเติม ควรหยุดทำ หรือเริ่มทำสิ่งใดเพื่อให้เกิดความก้าวหน้า ในขณะเดียวกัน ผู้ที่พยายามเป็นคนดีเพราะความกังวลใจย่อมไม่อาจซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตนเอง ไม่อาจแสดงออกอย่างที่ต้องการ และได้แต่ซุกปัญหาไว้ใต้พรมด้วยการบอกคนอื่นว่าทุกอย่างยังดำเนินไปได้ด้วยดี 

 

แนวทางแก้ไขการเป็นคนดีประเภทนี้ ทำได้โดยการเริ่มต้นปรับความคิดของตนเองก่อน ผู้ที่เลือกแสดงออกแต่ความเห็นในแง่ดีเพื่อหลีกเลี่ยงความกังวลใจควรทำความเข้าใจก่อนว่า การสื่อสารถึงความผิดพลาดของผู้อื่นอาจสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีให้อีกฝ่ายได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี หากมีความกังวลใจ แทนที่จะเลือกไม่พูดถึงข้อผิดพลาด ควรเลือกใช้วิธีพูดที่เหมาะสม เช่นการค่อย ๆ พูดอธิบาย บอกให้อีกฝ่ายรู้ว่ายังมีเรื่องที่ควรต้องปรับปรุง และให้โอกาสอีกฝ่ายได้ใช้เวลาปรับแก้ข้อผิดพลาดเหล่านั้น 

 

ทั้งนี้ แม้ในหลายวัฒนธรรมอาจมองว่าการพูดอย่างตรงไปตรงมาเป็นการทำให้อีกฝ่ายเสียหน้า และอาจก่อให้เกิดความบาดหมาง แต่ขอให้พึงระลึกไว้ว่า ในบริบทของการทำงาน การอยู่ในสถานที่ที่แสดงออกความคิดอย่างที่ควรทำไม่ได้ ไม่ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาใดใดเลย ไม่ว่ากับเพื่อนร่วมงาน หรือกับตัวเอง ลงทุนศาสตร์หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ “ดีเกินไป” และได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับความคิดเห็นที่จริงใจจนเกิดการเติบโตและพัฒนาต่อไปอย่างดีที่สุด 

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] TED. (2025). Tessa West. Retrieved from https://www.ted.com/speakers/tessa_west
[2] TEDxColumbiaUniversity. (September, 2023). The problem with being “too nice” at work. Retrieved from https://www.ted.com/talks/tessa_west_the_problem_with_being_too_nice_at_work_jan_2024/transcript?utm_medium=email&utm_source=ted_talks_daily_newsletter&utm_campaign=20240529&user_email_address=73ea7f9286bfcb2c8e29fec50a178cff&lctg=62d1adf6547336081412e1b
[3] TED. (May 29, 2024). The Problem With Being “Too Nice” at Work | Tessa West | TED. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=HrCbXNRP7eg

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน