Impulsive buying การซื้อแบบหุนหันพลันแล่น เมื่อนักการตลาดกระตุ้นให้คุณอยากซื้อของด้วยอารมณ์
เคยไหม เวลาที่คุณไปเดินห้างแล้วเห็นอะไรก็น่าซื้อไปเสียหมด นู่นก็ต้องมี นี่ก็ขาดไม่ได้ แถมเมื่อเห็นป้ายเซลล์ก็รีบคว้ามาไว้ก่อน ถึงแม้ไม่แน่ใจว่าจะได้เอาไปใช้ไหม ก็มันลดราคานี่นา ไม่ซื้อตอนนี้แล้วจะซื้อตอนไหน กลัวจะหมดเขตไปเสียก่อน สุดท้ายก็ได้ของกลับบ้านเต็มไม้เต็มมือแบบงง ๆ แถมเวลาผ่านไป ของบางชิ้นที่คุณซื้อมาด้วยอารมณ์ชั่ววูบก็ถูกตั้งเอาไว้ในบ้าน โดยไม่เคยแม่แต่จะได้แกะกล่องออกมาใช้งานเลยสักครั้ง ไม่ต้องแปลกใจไป หากคุณมีพฤติกรรมแบบนี้ เพราะยังมีใครอีกหลายคนที่ก็กำลังประสบปัญหาแบบเดียวกับคุณอยู่
พฤติกรรมแบบนี้เรียกว่า Impulsive buying หรือการซื้อแบบหุนหันพลันแล่น โดยที่ไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้า นักการตลาดเข้าใจธรรมชาติของผู้บริโภคในข้อนี้ดี จึงพยายามที่จะไปกระตุ้นให้อารมณ์ และความรู้สึกโหมดนี้ของผู้ซื้อถูกเปิดใช้งาน และมีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า การซื้อรูปแบบนี้ มักเกิดขึ้นกับการซื้อขายแบบสัมผัสได้จริง มากกว่าการซื้อแบบออนไลน์ เพราะผู้บริโภคจะได้ใช้สัมผัสทางกายภาพ ทั้งการดู ฟัง และการสัมผัสสินค้า ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจที่รวดเร็วกว่า จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ทุกครั้งที่คุณเดินเข้าห้างด้วยลิสต์สินค้าที่ต้องการซื้อภายในมือ แต่กลับออกมาด้วยรถเข็นที่เต็มไปด้วยสินค้านอกเหนือจากรายการที่ตั้งใจไว้จำนวนมาก
กลไกทางจิตวิทยาที่เรียกว่า ความกลัวการพลาดโอกาส คือหนึ่งในปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เกิดการซื้อแบบ Impulsive buying ได้โดยง่าย เช่น ป้ายลดราคา หรือป้ายซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง เป็นต้น ทำให้ผู้คนรู้สึกกลัวการเสียโอกาส ที่ว่าหากไม่ซื้อตอนนี้ก็ไม่รู้อีกนานแค่ไหนที่ สินค้าจะกลับมาจัดโปรโมชั่นแบบนี้ ความรู้สึกเสียดายและกลัวพลาด ทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อแบบหุนหันพลันแล่น โดยขาดการวิเคราะห์เหตุและผลของการใช้ประโยชน์จริงของสินค้าเหล่านั้น
อีกหนึ่งตัวอย่างที่นักการตลาดมักใช้ คือรูปแบบเส้นทางเดินในซูเปอร์มาร์เก็ต การมีเส้นทางเดินที่ถูกบังคับให้เข้าทางเดียวออกทางเดียว เส้นทางที่เดินย้อนไม่ได้ หรือทางที่วกวน เพื่อดึงให้ลูกค้าอยู่ในร้านให้นานที่สุด พร้อมกับการวางสินค้าแบบเดิมหลาย ๆ จุด ซ้ำกันบนเส้นทางเดิน จากเดิมที่คุณดูจะไม่ได้สนใจของชิ้นนั้น พอเห็นบ่อย ๆ เข้า คุณจะเริ่มมีความรู้สึกสนใจขึ้นมาเสียดื้อ ๆ รู้ตัวอีกทีก็อยู่ในตะกร้าจ่ายเงินเสียแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายในส่วนตัว ที่ทำให้เกิด Impulsive buying นั่นคือความเครียดหรือเศร้า คนส่วนใหญ่ จะซื้อของแบบหุนหันพลันแล่นมากกว่าปรกติ เพราะช่วยให้ผ่อนคลายเป็นอิสระ และไม่ถูกควบคุม
ดังนั้น การเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการเสียเงิน ออกจากกระเป๋าไปแบบเปล่าประโยชน์ คุณจึงควรมีความตระหนักรู้ตัวอยู่เสมอ เพื่อไม่ตกเป็นทางทางอารมณ์และการตลาดนั่นเอง
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
https://www.forbes.com/sites/traversmark/2023/12/11/a-psychologist-offers-3-tips-to-tame-your-impulse-buying-habit/?sh=134b9fae3277
https://www.forbes.com/sites/traversmark/2023/12/11/a-psychologist-offers-3-tips-to-tame-your-impulse-buying-habit/?sh=134b9fae3277
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0969698920314260
https://www.questionpro.com/blog/impulsive-buying/
https://economictimes.indiatimes.com/definition/impulsive-buying
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :