ขอโทษอย่างไรให้ได้รับการอภัย คำแนะนำ 3 ประการเมื่อเจ้าของธุรกิจต้องกล่าวคำขอโทษ
การขอโทษเป็นมารยาทพื้นฐานทางสังคมที่เราต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี เมื่อมีการทำผิด ต้องมีการขอโทษ และเมื่อขอโทษอย่างจริงใจ ผู้ทำผิดก็อาจได้รับการให้อภัย อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงบริบทของการเป็นแบรนด์ธุรกิจ หน้าตา ชื่อเสียง น้ำหนักของการต้องยอมรับว่าตนเองกระทำผิด และการพยายามหาทางออกด้วยข้อตัดสินทางกฎหมายแทนการกล่าวคำขอโทษ เป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องคิดทบทวน การกล่าวคำขอโทษทางธุรกิจไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยการพูดคำไม่กี่คำง่าย ๆ ในครั้งนี้ ลงทุนศาสตร์ขอนำเสนอคำแนะนำ 3 ประการที่เจ้าของธุรกิจควรพิจารณา เมื่อต้องกล่าวคำขอโทษ ดังนี้ [1, 2, 3]
ประการแรก เมื่อต้องขอโทษ ควรต้องพิจารณาให้เห็นถึงคุณค่าที่แท้จริงของการขอโทษ คำขอโทษนั้นไม่ใช่คำที่ควรกล่าวออกมาง่าย และไม่ใช่คำที่อยู่ดีดีจะกล่าวกันออกมาได้ การขออภัยเกิดขึ้นเมื่อมีการกระทำผิด เจ้าของธุรกิจควรคิดทบทวนถึงน้ำหนักของคำขอโทษนั้นว่าเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาใด สะท้อนถึงความรับผิดชอบใด คำขอโทษที่จริงใจและผ่านการไตร่ตรองจะช่วยให้เจ้าของคำขอโทษนั้นได้ตระหนักรู้ถึงความผิดพลาดของตนเอง และได้แก้ไขสถานการณ์ไปพร้อมกับการกล่าวขอโทษออกมาด้วย
ประการที่สอง ใครเป็นคนที่ควรขอโทษ การขอโทษควรเกิดขึ้นที่ไหน และเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ในบางกรณี เจ้าของธุรกิจไม่จำเป็นต้องขอโทษด้วยตนเอง หากความผิดนั้นเกิดขึ้นจากผู้รับผิดชอบคนอื่น แต่หากธุรกิจเสียหายรุนแรงจากการตัดสินใจผิดพลาดของเจ้าของธุรกิจเอง เจ้าของแบรนด์ก็ควรเป็นผู้ขอโทษ และพิจารณาต่อว่าการขอโทษควรเกิดขึ้นที่ไหน สถานที่ที่คำขอโทษปรากฏจะส่งผลต่อการรับรู้ของผู้คนในสังคมไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากขอโทษในที่สาธารณะ ผู้คนทั้งหลายย่อมได้รับรู้ด้วย และหากคำขอโทษมาช้าเกินควร ก็อาจทำให้ผู้คนไม่พอใจ
ประการที่สาม คำขอโทษที่ดี ควรกล่าวออกมาอย่างจริงใจ ความจริงใจในคำขอโทษสะท้อนออกมาจากคำพูดที่ผ่านการคิดคำนึง ไตร่ตรองถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และผ่านการคิดย้อนทบทวนสาเหตุที่ตนเองตัดสินใจผิดพลาดแต่แรกอย่างถี่ถ้วน คำขอโทษที่ดีไม่ควรมีคำแก้ตัว โยนโทษ ป้องกันตัวเอง หรือพูดขอโทษเปล่า ๆ โดยไม่มีการเสนอมาตรการแก้ไขเยียวยาใดใด ผู้ขอโทษไม่ควรแค่กล่าวคำขอโทษ แต่ควรแสดงความรับผิดชอบ เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก
การต้องกล่าวคำขอโทษไม่ใช่สิ่งที่ใคร ๆ ก็อยากทำ แต่เมื่อจำเป็นต้องทำ ก็ควรถือโอกาสนั้นในการพิจารณาจุดบกพร่องของตนเอง เรียนรู้และยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนไม่ได้เกิดมาสมบูรณ์แบบ ความผิดพลาดใดก็ตามที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการหนึ่งของการแก้ไขและเติบโตขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของธุรกิจจัดการกับความผิดพลาดไม่ถูกทาง วิกฤตก็จะไม่มีทางกลายเป็นโอกาส คำขอโทษที่ไม่ได้ผ่านการคิดให้รอบคอบและปราศจากความจริงใจ อาจกลายเป็นหอกย้อนแทงแบรนด์ที่สร้างมาอย่างยากลำบาก หากคำขอโทษที่จริงใจไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะใช้อีกกี่คำขอโทษ ก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าจะได้รับการให้อภัยอย่างแท้จริง
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
[1] Maurice Schweitzer, Alison Wood Brooks, and Adam D. Galinsky. (September, 2015). The Organizational Apology. Retrieved from https://hbr.org/2015/09/the-organizational-apology
[2] Linda Stamato. (2008). Should Business Leaders Apologize? Why, When And How An Apology Matters. Retrieved from https://iveybusinessjournal.com/publication/should-business-leaders-apologize-why-when-and-how-an-apology-matters
[3] Forbes. (July 6, 2020). 13 Tips For Crafting The Perfect Corporate Apology Plan. Retrieved from https://www.forbes.com/sites/forbescommunicationscouncil/2020/07/06/13-tips-for-crafting-the-perfect-corporate-apology-plan/?sh=4ab8e3353703
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :