สังคมศาสตร์

น้ำปนเปื้อนจากฟุกุชิมะอันตรายแค่ไหน มุมมองจากจีน ญี่ปุ่น และผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์

น้ำปนเปื้อนจากฟุกุชิมะอันตรายแค่ไหน มุมมองจากจีน ญี่ปุ่น และผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์

น้ำปนเปื้อนจากฟุกุชิมะอันตรายแค่ไหน มุมมองจากจีน ญี่ปุ่น และผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์

 

ข่าวการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นเป็นประเด็นร้อนที่กำลังถูกกล่าวถึงทั่วโลกในขณะนี้ หากการปล่อยน้ำลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกครั้งนี้เป็นเพียงน้ำธรรมดาก็คงไม่เป็นที่น่าสนใจ แต่น้ำดังกล่าวมีที่มาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีและมีขนาดมากมายหลายล้านตัน เทียบเท่ากับสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกได้มากถึง 500 สระ และยังต้องใช้เวลาทยอยปล่อยน้ำทั้งหมดลงสู่มหาสมุทรต่อเนื่องอย่างน้อย 30 ปี [1, 2]

 

ผู้คนเริ่มกล่าวถึงผลกระทบของการปล่อยน้ำของญี่ปุ่นในครั้งนี้ ในที่นี้ ลงทุนศาสตร์ขอสรุปมุมมองจากตัวแทนของจีน (Victor Gao) ญี่ปุ่น (Tomohiko Taniguchi) และผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์จากนอร์เวย์ (Astrid Liland) ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการของสำนักข่าว Al Jazeera [3] ทั้งสามฝ่ายได้แสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว ดังนี้

 

ในมุมมองของจีน การปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะเป็นการกระทำที่ไม่อาจยอมรับได้ นับเป็นมหันตภัยคุกคามประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด ตัวแทนจากจีนยืนยันว่าญี่ปุ่นกำลังหลอกลวงประชาคมโลกว่าน้ำดังกล่าวไม่มีอันตรายแอบแฝง รวมถึงกล่าวเท็จว่าได้รับอนุมัติจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ให้ทำการปล่อยน้ำลงสู่มหาสมุทร โดยจีนยืนยันชัดเจนว่า “หากน้ำที่ปล่อยมาสะอาดมากนัก ญี่ปุ่นก็ควรเก็บน้ำเหล่านั้นไว้ใช้รดน้ำต้นไม้ ใช้ดื่มใช้กิน ไม่ใช่ปล่อยเป็นขยะลงสู่มหาสมุทรเช่นนี้”

 

มุมมองของญี่ปุ่นที่มีต่อเรื่องนี้ แน่นอนว่าต้องสวนทางกับจีน ตัวแทนจากญี่ปุ่นได้กล่าวแย้งว่าสิ่งที่จีนกล่าวหานั้นไม่เป็นความจริง ญี่ปุ่นได้รับการอนุญาตจาก IAEA แล้วอย่างเป็นทางการ เขาได้กล่าวย้ำว่าน้ำที่ปล่อยจากโรงงานนั้นผ่านการบำบัดจนหลงเหลือสารเคมีในระดับที่เป็นอันตรายน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นทริเทียม หรือคาร์บอน-14 ก็ล้วนแล้วต่อหลงเหลือในน้ำในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ และสำหรับตัวเขาเองแล้ว การดื่มน้ำที่ปนเปื้อนหรือนำน้ำเหล่านั้นไปใช้ในชีวิตประจำวันก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงแต่อย่างใด เพียงแต่น้ำที่มีปริมาณมหาศาลเช่นนั้นควรจะต้องกำจัดออกโดยการปล่อยลงสู่มหาสมุทรก็เท่านั้นเอง

 

จุดยืนของญี่ปุ่นดังที่กล่าวมานี้สอดคล้องกับมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์จากนอร์เวย์ด้วยเช่นกัน เมื่อถูกถามถึงคุณภาพน้ำที่ญี่ปุ่นปล่อยลงสู่มหาสมุทร ผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายว่า น้ำที่ปล่อยลงสู่มหาสมุทรนั้นไม่ได้สะอาดบริสุทธ์ปราศจากการปนเปื้อนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะสารกัมมันตรังสีไม่สามารถกำจัดออกทั้งหมดได้โดยง่าย แต่อย่างไรก็ตาม น้ำจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะก็ถือว่าปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายอย่างแน่นอน ผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวย้ำอีกว่าเธอเองก็ได้ลองดื่มน้ำจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นแล้วเช่นกัน และตัวเธอก็ยังแข็งแรงดี

 

มุมมองของตัวแทนที่ให้สัมภาษณ์ในรายการเหล่านี้เป็นการแสดงจุดยืนผ่านสื่อ ที่มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับชมรายการ มีทั้งผู้ที่เข้าใจเหตุผลของทางญี่ปุ่น และผู้ที่คิดเห็นเช่นเดียวกันกับจีน ผู้ที่คิดเห็นไปในทางเดียวกันกับจีนมีความกังวลว่าน้ำที่ปนเปื้อนอาจยังมีอันตรายอื่นแอบแฝงที่ไม่เห็นผลในขณะนี้ แต่อาจมีผลกระทบต่อไปอีกในอนาคต ทั้งกับผู้คนและระบบนิเวศน์ที่ต้องเกี่ยวข้องกับน้ำปนเปื้อนที่ถูกปล่อยลงในมหาสมุทรแปซิฟิก

 

ทั้งนี้ ไม่ว่าแต่ละฝ่ายจะมีความคิดเห็นอย่างไร น้ำปนเปื้อนของญี่ปุ่นก็ได้ถูกปล่อยลงในมหาสมุทรแปซิฟิกตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมานี้ ต่อจากนี้ไป เราคงได้แต่จับตาดูกันต่อไปว่า นานาประเทศจะตอบสนองต่อการปล่อยน้ำครั้งนี้อย่างไร และน้ำที่ปล่อยลงสู่มหาสมุทรครั้งนี้จะเป็นอันตรายต่อไปหรือไม่

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] Reuters. (August 24, 2023). Fukushima: Why is Japan releasing water and is it safe?. Retrieved from https://www.reuters.com/world/asia-pacific/how-japan-will-release-treated-water-fukushima-nuclear-plant-2023-08-24
[2] CBS Mornings. (August 24, 2023). Japan starts releasing treated radioactive water from Fukushima nuclear disaster into Pacific. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=33D1gri48L8
[3] Al Jazeera English. (August 27, 2023).Are fears about release of Fukushima radioactive water justified? | Inside Story. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=W5c4AD54fzk

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน