ปัญหาแรงงานใต้เงาเผด็จการ เมื่อแบรนด์ใหญ่จากต่างประเทศเริ่มทยอยถอนตัวออกจากเมียนมา
ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างเมียนมา ประสบกับภาวะวิกฤตทั้งจากปัจจัยทางการเมืองที่ถูกทหารควบคุมจนกลายเป็นรัฐเผด็จการ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย และการถูกซ้ำเติมจากวิกฤตเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ท่ามกลางวิกฤตการณ์เหล่านี้ ประชาชนชาวเมียนมาต้องเผชิญกับความกดดันรอบด้าน และหนึ่งในปัญหาสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นกับเมียนมาในขณะนี้ คือการที่แบรนด์ใหญ่จากต่างประเทศ กำลังทยอยถอนฐานการผลิตออกจากเมียนมา อธิบายดังต่อไปนี้ [1, 2, 3]
นับตั้งแต่เมียนมาเกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 บริษัทต่างชาติที่ลงทุนในเมียนมาก็เริ่มพิจารณาถึงความปลอดภัยและเริ่มชั่งน้ำหนักความคุ้มค่าระหว่างการคงฐานการผลิตไว้ที่เดิม หรือย้ายไปที่อื่น การจัดตั้งโรงงานที่เทียนมามีข้อดีในด้านค่าแรงของแรงงานที่มีราคาถูก แต่น้ำหนักของการคงฐานการผลิตไว้ที่เมียนมาเริ่มมีน้อยลงเรื่อย ๆ ทุกที เมื่อแรงงานราคาถูกของเมียนมามาพร้อมกับปัญหาสวัสดิการแรงงาน
เมื่อเมียนมาอยู่ใต้การปกครองแบบเผด็จการ สวัสดิการ ความปลอดภัยของประชาชนก็ลดน้อยลง ในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2023 นี้ แบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำอย่าง H&M รายงานถึงการตรวจพบปัญหาการกดขี่แรงงานเมียนมามากกว่า 20 กรณี ทั้งการบังคับให้แรงงานทำงานล่วงเวลา จ่ายค่าแรงน้อย ปัญหาเหล่านี้นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตของการจ้างแรงงานในเมียนมาแล้ว ยังส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ H&M ต้องพิจารณาถอนฐานการผลิตออกจากเมียนมา
นอกจาก H&M แล้ว บริษัทต่างชาติมากมายก็ประสบปัญหาด้านสวัสดิภาพของแรงงานในเมียนมาไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งของ H&M อย่าง Zara หรือแบรนด์อื่น ๆ เช่น Primark, Marks & Spencer รวมถึง Tendam ก็ล้วนมีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตจากเมียนมาไปสู่แห่งอื่น เพราะการที่สวัสดิภาพแรงงานเมียนมาถูกคุกคามภายใต้รัฐเผด็จการ มีโอกาสจะทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน
นับตั้งแต่เมียนมาถูกควบคุมด้วยเผด็จการ แรงงานเมียนมาก็ไม่ได้รับความคุ้มครองอีกต่อไป จากผลการสำรวจของกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนของบริทิช ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022-2023 พบแรงงานพม่าถูกละเมิดสิทธิ์มากถึง 156 ราย
ปัญหาแรงงานที่ทำให้บริษัทต่างชาติถอนตัวออกจากประเทศจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมียนมาอย่างแน่นอน และจะยิ่งซ้ำเติมวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ประชาชนเมียนมาเผชิญอยู่เดิม ทั้งจากโรคระบาด เงินเฟ้อ และความเป็นอยู่ที่ยากลำบากจากการควบคุมของทหาร จากนี้ไป เราคงได้แต่จับตาดูกันต่อไปว่า ประเทศเมียนมาที่อยู่ภายใต้เงาของเผด็จการ จะดำเนินต่อไปอย่างไร ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะถาโถมอย่างต่อเนื่อง
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
[1] Helen Reid. (August 17, 2023). H&M probes alleged Myanmar factory abuses as pressure intensifies. Retrieved from https://www.reuters.com/business/retail-consumer/hm-probes-myanmar-factory-abuses-pressure-intensifies-2023-08-16
[2] Taida Nando. (August 16, 2023). H&M In Hot Water: 20 Labour Abuse Allegations Emerge in Myanmar. Retrieved from https://impakter.com/hm-in-hot-water-20-labour-abuse-allegations-emerge-in-myanmar
[3] The Irrawaddy. (July 21, 2021). Heavy Job Losses in Myanmar Since Coup: ILO Report. Retrieved from https://www.irrawaddy.com/news/burma/heavy-job-losses-in-myanmar-since-coup-ilo-report.html
Cr. Photo:
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :