ส่องปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย
หนี้ครัวเรือนคืออะไร
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย นิยามว่า หนี้ครัวเรือนคือหนี้ที่ประชาชนกู้ยืมจากผู้ให้กู้ สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการนอกระบบ หรือแม้แต่คนรู้จัก เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายตามความต้องการที่แตกต่างกันไป การก่อหนี้เปรียบเสมือนการนำรายได้ในอนาคตมาใช้ แม้จะทำให้เกิดการใช้จ่าย ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในวันนี้ แต่ในอนาคตเราจำเป็นต้องทยอยชำระหนี้คืนทำให้รายได้ที่หามาเหลือใช้น้อยลง และหากครัวเรือนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจก่อหนี้มากเกินไปก็จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ
ผลกระทบจะเกิดขึ้นโดยการบริโภคของครัวเรือนในอนาคตจะลดลง และ ความสามารถในการรองรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดน้อยลง เช่น หากถูกเลิกจ้างหรือถูกลดค่าจ้างลง ก็อาจจะผิดนัดชำระหนี้ที่มีอยู่เดิม ซึ่งสร้างความเสี่ยงให้กับระบบสถาบันการเงินหรือผู้ให้กู้ยืม ในกรณีที่การผิดนัดชำระหนี้มีจำนวนมาก ระบบการเงินจะได้รับความเสียหายจนไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติและกระทบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
ลองมาคิดกันดูว่า เพราะอะไร คนไทยหลายคน ถึงตัดสินใจกู้หนี้ยืมสิน ก่อหนี้ครัวเรือนซึ่งดูเหมือนจะเป็นปัญหาของปัจเจก แต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง
- การเข้าถึงบริการทางการเงินที่ดีขึ้น จนทำให้เกินการใช้เงิน กล้ากู้เงินก่อหนี้มากขึ้น
- เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่ทำให้ครัวเรือนต้องกู้ยืมเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย
- การแข่งขันของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินที่แข่งกันปล่อยสินเชื่อบุคคล
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จูงใจให้คนก่อหนี้ โดยเฉพาะโครงการรถยนต์คันแรก
- การกู้เงินไปซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไร
- พฤติกรรมการใช้เงินของครัวเรือนที่ไม่กังวลในการก่อหนี้ และเน้นสินค้าวัตถุนิยม
- ความรู้ด้านการบริหารเงิน และออมเงินของครัวเรือนไทยยังมีไม่พอ
ทำไมมันถึงน่ากังวล
สถาบันป๋วย อึ้งภากรณ์ ให้เหตุผลไว้ว่า หนี้ครัวเรือนไทยน่ากลัวเพราะ
- หนี้ส่วนใหญ่ของคนไทยเป็นสินเชื่อที่อาจไม่สร้างรายได้ (non-productive loan) โดย 69% ของบัญชีหนี้ครัวเรือนทั้งหมดเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ซึ่งมักเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ใช้แล้วหมดไป ไม่ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นหรือทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต และยังมีระยะผ่อนสั้นแต่ดอกเบี้ยสูง ทำให้มีภาระผ่อนต่อเดือนที่สูง ต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งถึงแม้จะมีสัดส่วนยอดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูงใกล้เคียงกับไทย แต่ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่สามารถสร้างรายได้หรือความมั่งคงได้
- หนี้ส่วนใหญ่อยู่กับกลุ่มผู้กู้ที่มีปัญหาด้านความสามารถในการชำระหนี้ปัจจุบันคนไทยกว่า 8 ล้านคนกำลังมีหนี้เสีย โดยกลุ่มวัยเริ่มทำงานมีสัดส่วนการใช้สินเชื่อที่อาจไม่สร้างรายได้สูงที่สุดและมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงที่สุดด้วยถึง 1 ใน 4 ส่วนเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยเป็นสองกลุ่มผู้กู้ที่มีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้สูงที่สุด จึงสุ่มเสี่ยงที่จะชำระหนี้ไม่ได้ หรือชำระได้เพียงดอกเบี้ยหรือบางส่วน ทำให้ยากที่จะหลุดพ้นจากปัญหาหนี้
ปัญหานี้ไม่ใช่แค่เรื่องเล็ก ๆ ของใครบางคนที่จะเลือกกู้ยืมเงิน แต่มันฝังรากลึกไปเริ่มต้นตั้งแต่ความเข้าใจความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การตัดสินใจกู้หนี้ ไปจนถึงระบบเศรษฐกิจที่ผันผวน และบางครั้งเป็นอุปสรรคทำให้ผู้กู้ไม่สามารถจ่ายคืนได้ เรื่องที่เหมือนจะเล็กแต่ใหญ่เช่นนี้ ต้องการการปรับเปลี่ยนเพื่อแก้ไขปัญหาเรื้อรังนี้เพื่อไม่ให้สถานการณ์แย่ลงไปมากกว่าที่เป็น
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์, หนี้ครัวเรือนไทย วิกฤตแค่ไหน ทำไมถึงไม่ควรมองข้าม, อ้างอิงจาก https://www.pier.or.th/blog/2023/0202/
Plus.thairath, หนี้ครัวเรือน ปัญหาเรื้อรังของไทย นับวันจะมีแต่เพิ่มขึ้น เพราะสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้อให้คนมีเงิน, อ้างอิงจาก https://plus.thairath.co.th/topic/money/100616
Bot.or.th, หนี้ครัวเรือน: ปัญหาที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้, อ้างอิงจาก https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/25650157TheknowledgeHouseholdDebt.aspx
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :