เศรษฐกิจศรีลังกาที่ล่มสลาย ส่งสัญญาณถึงความเสี่ยงของ Emerging Market อย่างไร
ในช่วงปีค.ศ.2010 ศรีลังกานับเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มเอเชียที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่แล้วในปีค.ศ.2022 นี้ ทุกสิ่งกลับตาลปัตรไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเงินเฟ้อ วิกฤตการขาดแคลนอาหาร พลังงาน และยา ผู้คนมากมายลงถนนประท้วง แต่สถานการณ์กลับไม่ดีขึ้น เงินเฟ้อยังคงพุ่งสูงไปถึงร้อยละ 50 และอาจขึ้นไปอีกถึงร้อยละ 70 นักวิเคราะห์ทั้งหลายต่างคาดการณ์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับศรีลังกานี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงใน Emerging Market [1]
คำถามที่น่าสนใจคือ เหตุใดการล่มสลายของเศรษฐกิจศรีลังกา จึงสะท้อนไปถึง Emerging Market ประเทศอื่น ๆ ด้วย ?
ก่อนอื่น เราคงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า Emerging Market (EM) นั้นหมายถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าตลาดของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ตลาดกลุ่มนี้ย่อมมีความแตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยหากแบ่งตามภูมิภาค จะแบ่งได้เป็น 1) ภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ รวมถึงไทย 2) ภูมิภาคละตินอเมริกา เช่น อาร์เจนตินา บราซิล และเปรู และ 3) ภูมิภาคแถบยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลาง เช่น รัสเซีย อียิปต์ และตุรกี [2]
การลงทุนใน Emerging Market นั้นได้รับความสนใจจากเหล่านักลงทุนที่ต้องการเสี่ยงลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนมาก ในขณะเดียวกัน นักลงทุนก็ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาที่อาจระส่ำระสายได้ง่ายหากมีเหตุขัดแย้งทางการเมือง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ [3] หรือได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ [4]
จากที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า ความเสี่ยงเหล่านี้ กำลังเกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยมีศรีลังกาเป็นตัวอย่าง
ประเทศกำลังพัฒนาอย่างศรีลังกาเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากหลายทาง ทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ต้องกู้ยืมเงินเพื่อฟื้นฟูเศรฐกิจ ดังที่ IMF ได้คาดการณ์ว่าประเทศกำลังพัฒนาร้อยละ 30 และประเทศรายได้ต่ำร้อยละ 60 กำลังประสบปัญหาการกู้ยืมหนี้จำนวนมาก และมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้อย่างสูง
นอกจากนี้ ศรีลังกายังประสบปัญหาจากเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาสินค้าทั้งอาหาร น้ำมัน ค่าครองชีพต่างเพิ่มสูงขึ้น และการปรับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐเพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึง Bond Yield ที่ปรับตัวสูงขึ้น (เช่นเดียวกับยูเครน ปากีสถาน ที่ประสบวิกฤตเศรษฐกิจเช่นกัน) ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจกลายเป็นชนวนที่ทำให้ผู้คนลุกฮือขึ้นก่อการประท้วง [5]
สิ่งที่เกิดขึ้นกับศรีลังกา อาจเกิดขึ้นได้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน หากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายย่อมฟื้นตัวได้ช้ากว่าประเทศที่มีความพร้อมรับมือกับปัญหา ดังนั้น หากนักลงทุนสนใจใน Emerging Market ก็ควรต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลตอบแทนอันดีที่อาจได้มา และความเสี่ยงของการลงทุนกับประเทศที่อาจไม่มั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อ้างอิง
[1] CNBC. (August 13, 2022). How Sri Lanka’s Economic Collapse Raises Alarm Bells For Other Emerging Markets. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=knYzcY3Qb64&ab_channel=CNBC
[2] นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์. (2565). ความน่าสนใจในการลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market). สืบค้นจาก https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/grow-your-wealth/emerging-market.html
[3] Beattie, A. (January 31, 2022). Should You Invest In Emerging Markets?. Retrieved from https://www.investopedia.com/articles/basics/11/should-you-invest-emerging-markets.asp
[4] Ashton, G. (May 8, 2022). How a Strong U.S. Dollar Can Hurt Emerging Markets. Retrieved from https://www.investopedia.com/articles/investing/040115/how-strong-us-dollar-can-hurt-emerging-markets.asp
[5] Sandbu, M and Wheatley, J. (July 16, 2022). What Sri Lanka reveals about the risks in emerging markets. Retrieved from https://www.ft.com/content/5ac44901-e989-42d6-ab4f-c168cd13196d
[6] Photo credit: Financial Express
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :