ประเทศคู่ค้าของสหรัฐอเมริกาตอบกลับนโยบายภาษีของทรัมป์อย่างไร
นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาประกาศการปรับนโยบายเรียกเก็บภาษีกับประเทศคู่ค้า เค้าลางของสงครามการค้าและวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกก็เริ่มปรากฏ ประเทศคู่ค้ากับสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ยูเครน อินเดีย จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ กัมพูชา รวมถึงไทย ล้วนได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หลายประเทศเริ่มตอบกลับนโยบายภาษีของทรัมป์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ในที่นี้ ลงทุนศาสตร์ขอนำเสนอตัวอย่างการตอบกลับของประเทศทั้งหลาย ดังต่อไปนี้ [1, 2, 3]
ผู้นำในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน โคลอมเบีย ฟิจิ ไอร์แลนด์ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี ล้วนออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านนโยบายภาษีของทรัมป์ และประกาศชัดว่าการกระทำเช่นนี้มีแต่จะสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจโลกโดยไม่จำเป็น สหรัฐอเมริกาไม่ควรทำตัวเป็นศูนย์กลางจักรวาล เชื่อมั่นว่าตนเองจะอยู่รอดได้โดยไม่พึ่งพิงชาติอื่นใด หากสหรัฐอเมริกายังไม่พิจารณายกเลิกนโยบายภาษี แต่ละประเทศล้วนมีวิธีรับมือกับนโยบายอันไม่สมเหตุสมผลที่เกิดขึ้น
ประเทศคู่แข่งในสงครามการค้าอย่างจีน ได้ตอบโต้นโยบายภาษีของทรัมป์ด้วยวิธีการแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เมื่อสหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีกับจีนอย่างไม่เป็นธรรม จีนก็ตอบกลับด้วยการประกาศนโยบายขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ต่อสินค้านำเข้าทุกอย่างของสหรัฐฯ ร้อยละ 34 เช่นเดียวกัน ในขณะที่ประเทศฝั่งสหภาพยุโรป ฝรั่งเศส เยอรมัน ไอร์แลนด์ สเปน เลือกใช้วิธีการตอบกลับแบบสามัคคีคือพลัง ประเทศกลุ่มนี้แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกาที่ตั้งขึ้นมาอย่างไม่เป็นธรรม และพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อตอบโต้กับนโยบายภาษีของทรัมป์ร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับบางประเทศ เช่นยูเครน นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น โปแลนด์ ฟิลิปปินส์ และไทย การปฏิเสธนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกาอย่างแข็งขันกลับกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ผู้นำประเทศจำเป็นต้องชั่งใจถึงน้ำหนักของนโยบายภาษี และมิตรภาพระหว่างประเทศที่หากสั่นคลอน อาจส่งผลต่อความร่วมมือกันในหลาย ๆ ด้าน ผู้นำของประเทศเหล่านี้ได้เพียงแสดงความผิดหวัง และแสดงออกถึงความกังวล แต่ยังคงยืนยันที่จะหาทางเจรจาร่วมกันกับสหรัฐอเมริกาด้วยท่าทีที่เป็นมิตร เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมที่สุด
ในขณะเดียวกัน เวียดนามและกัมพูชาเริ่มเจรจาข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมกับสหรัฐอเมริกา โดยเวียดนามเสนอที่จะไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ส่วนกัมพูชาเสนอที่จะลดการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เหลือเพียงร้อยละ 5 อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้เป็นการรับประกันได้เลยว่าสหรัฐอเมริกาจะปรับนโยบายภาษีกับประเทศที่ยอมจำนน
ไม่ว่าแต่ละประเทศจะมีการตอบกลับต่อนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกาอย่างไร สิ่งที่ทุกประเทศกังวลไม่ต่างกันคือสงครามการค้า วิกฤตเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากข้าวของราคาแพงพุ่งสูงรวดเร็วหลังจากนี้ จากนี้ไป เราคงได้เห็นมาตรการตอบโต้ การรวมตัวกันของแต่ละประเทศเพื่อตอบกลับนโยบายภาษีในครั้งนี้ และได้มองเห็นผลลัพธ์ของนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของผู้นำเศรษฐกิจโลกไปในที่สุด
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
[1] Hoskins, P. (April 7, 2025). Tariffs: Why is there a ‘bloodbath’ on Asian markets?. Retrieved from https://www.bbc.com/news/articles/c934qzd094wo
[2] Jeyaretnam, M. and Guzman, C.D. (April 4, 2025). ‘Inflation Day Rather Than Liberation Day’: How the World Is Reacting to Trump’s Latest Tariffs. Retrieved from https://time.com/7274195/trump-reciprocal-tariffs-world-responses-china-eu-countries-leaders-countermeasures/
[3] The Guardian. (April 4, 2025). China hits back hard at ‘bullying’ Trump tariffs as global recession fears grow. Retrieved from https://www.theguardian.com/us-news/2025/apr/04/china-donald-trump-tariffs-recession–us-stock-market
[4] The Nation. (April 5, 2025). Vietnam offers 0% US import tax; Cambodia cuts to 5%. Retrieved from https://www.nationthailand.com/blogs/news/asean/40048383
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :