เศรษฐกิจ

หนึ่งชีวิตที่เติบโตมามีราคามหาศาล เคล็ดลับ 7 ประการในการวางแผนทางการเงินสำหรับผู้ที่ต้องการมีลูก

หนึ่งชีวิตที่เติบโตมามีราคามหาศาล เคล็ดลับ 7 ประการในการวางแผนทางการเงินสำหรับผู้ที่ต้องการมีลูก

หนึ่งชีวิตที่เติบโตมามีราคามหาศาล เคล็ดลับ 7 ประการในการวางแผนทางการเงินสำหรับผู้ที่ต้องการมีลูก

 

การต้อนรับชีวิตใหม่ที่จะถือกำเนิดขึ้นมาเป็นงานหนักที่พ่อแม่ต้องเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า บรรยากาศของความยินดีและความอบอุ่นกำลังจะเริ่มต้นขึ้น แต่หลังจากนั้นแล้ว ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูหนึ่งชีวิตให้เติบโตมามีราคามหาศาล จากข้อมูลโดยประมาณของมูลนิธิโสสะ [1] เริ่มตั้งแต่ตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ต่อเดือนตลอด 9 เดือน เฉลี่ยเดือนละ 1,500-2,500 บาท ค่าทำคลอด 30,000-100,000 บาท ค่าใช้จ่ายจิปาถะ ตั้งแต่ขวดนม เสื้อผ้า เปลนอน เครื่องอุ่นนม เปลนอน ไปจนถึงค่าวัคซีน ค่ารักษาพยาบาล เฉลี่ยรายเดือนตั้งแต่ 10,000-50,000 บาท ยังไม่นับรวมค่าอาหารของเด็กเล็กต่อเดือนและค่าเล่าเรียน ค่าขนม ที่อาจมีมากถึงหลักหมื่น หลักแสน หรือหลักล้านต่อปี

 

แม้การเลี้ยงดูหนึ่งชีวิตให้เติบโตมาจะมีราคามากมายที่ต้องจ่าย แต่เชื่อว่าหลายท่านก็ยังคงเต็มใจที่จะรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไว้เพื่อให้ชีวิตใหม่ได้เริ่มต้นอย่างสมบูรณ์ที่สุด ในครั้งนี้ ลงทุนศาสตร์ขอนำเสนอเคล็ดลับ 7 ประการสำหรับแนะนำผู้ที่ต้องการมีลูก เพื่อให้การวางแผนสำหรับชีวิตในการมีลูกราบรื่นสมบูรณ์ที่สุด ดังรายละเอียดต่อไปนี้ [2, 3]

 

ข้อแรก ประเมินสถานการณ์ทางการเงินของตนเองก่อน สิ่งแรกที่ควรต้องทำคือการประเมินงบการเงินของตนเองและคู่ชีวิต ตรวจสอบเงินที่มี หนี้สินที่ต้องจ่าย และรายจ่ายจิปาถะทั้งหลาย เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ว่าควรต้องเพิ่มรายรับหรือตัดรายจ่ายอย่างไรก่อนที่จะมีลูก การกินข้าวนอกบ้านอาจลดน้อยลงเพื่อประหยัดงบ หรือหนี้สินบางอย่างอาจควรถูกเคลียร์จบก่อนที่ครอบครัวจะเริ่มต้นมีอีกหนึ่งชีวิตใหม่

 

ข้อสอง เริ่มต้นเก็บออมเงิน การมีลูกเพิ่มมาหนึ่งคนหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และยังหมายถึงเหตุฉุกเฉินใดใดก็ได้ที่อาจเกิดขึ้น และจำเป็นต้องใช้เงินในการรักษา การมีเงินเก็บออมไว้เพียงพอย่อมทำให้อุ่นใจได้ว่าจะสามารถประคับประคองชีวิตของทุกคนในครอบครัวให้ผ่านไปได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้ อาจมีการเปิดบัญชีแยกเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับลูกโดยเฉพาะ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทั้งค่าทำคลอด ค่าเสื้อผ้า ค่าเทอม และค่าใช้จ่ายใดก็ตามที่ใช้ในการเลี้ยงดูหนึ่งชีวิตให้เติบโตขึ้นมา

 

ข้อสาม ทำประกันชีวิต ในขณะที่ยังไม่มีพันธะผูกพัน ไม่มีโซ่ทองคล้องใจ ชีวิตยังคงเป็นของเราเพียงผู้เดียว แต่เมื่อใดก็ตามที่ชีวิตใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้น ชีวิตของเราก็มีความหมายมากมายกับผู้ที่เราได้ให้กำเนิดมา การทำประกันชีวิตไม่เพียงแต่สร้างหลักประกันได้ว่าหากเกิดเหตุร้ายใดขึ้น ลูกจะยังได้รับผลประโยชน์ แต่ยังช่วยลดรายจ่ายค่ารักษาพยาบาล หรืออาจช่วยเก็บออม ลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติมตามแต่เงื่อนไขของประกันชีวิต ซึ่งควรต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจ ในทางกลับกัน การทำประกันชีวิตให้ลูกเผื่อไว้ก็นับเป็นแนวทางที่ดีเช่นกัน

 

ข้อสี่ ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ที่จะได้จากการมีลูก นโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่คลอดบุตร เงินสนับสนุนเด็กแรกเกิด รวมถึงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายค่าเล่าเรียนใดใดก็ตาม ควรศึกษาไว้ล่วงหน้าและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ นอกจากนโยบายของรัฐบาลแล้วยังรวมถึงนโยบายในบริษัทที่ทำงาน เช่น สิทธิการลาพักคลอด ความยืดหยุ่นในการทำงานขณะตั้งครรภ์

 

ข้อห้า ตัดสินใจขายของบางอย่างในบ้าน เพื่อเพิ่มพื้นที่ และเพิ่มรายได้ ของสะสมบางอย่างที่อาจเคยมีความหมาย วางเก็บเอาไว้เต็มชั้นในบ้าน เมื่อถึงคราวจำเป็นก็อาจควรพิจารณาขายออก การระบายของเก่าในบ้านออกไปโดยการประกาศขายช่วยเพิ่มทั้งรายได้และเพิ่มพื้นที่ให้กับบ้าน ครอบครัวที่มีทารกจำเป็นต้องใช้พื้นที่มากมายในการเลี้ยงดู ทั้งที่คลานที่วิ่ง มุมแห่งการเรียนรู้ ดังนั้น ควรใช้โอกาสนี้จัดการข้าวของและพื้นที่ในบ้านให้ดี

 

ข้อหก อย่าเห่อไปกับของเด็กเล็กมากจนเกินไปนัก หลายคนมีความฝันที่จะมีลูก และมักหวั่นไหวง่ายกับข้าวของน่ารักไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้าเด็ก ผ้ากันเปื้อน ตุ๊กตา ของตกแต่ง อย่างไรก็ตาม เด็กเล็กนั้นเติบโตรวดเร็ว เสื้อผ้ามีการเปลี่ยนแปลงขนาดอยู่เสมอ ข้าวของที่เกี่ยวข้องกับเด็กเล็ก หากซื้อมาจำนวนมากและทยอยขายหรือส่งต่อไปไม่ได้ ไม่นานก็จะกลายเป็นขยะที่เหลือค้างอยู่ในบ้าน ดังนั้น ควรซื้อแต่พอดี หรือวางแผนขายต่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด

 

ข้อสุดท้าย ลองคำนวณถึงค่าใช้จ่ายในกรณีที่ใครคนใดคนหนึ่งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพียงลำพัง ในการเลี้ยงดูเด็ก หากไม่จ้างพี่เลี้ยงหรือขอความช่วยเหลือให้ญาติพี่น้องเลี้ยงดู ก็อาจต้องมีใครคนใดคนหนึ่งเสียสละลาออกจากงานในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อประคับประคองทารกที่เพิ่งเกิดใหม่ หรือในกรณีที่ครอบครัวเกิดการหย่าร้าง หรือใครอีกคนไม่พร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอีกต่อไป การคำนวณเงินที่ต้องจ่ายไว้ล่วงหน้าและคิดคำนึงถึงกรณีที่อาจต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพียงคนเดียวก็นับเป็นการเตรียมการที่ดีที่ควรทำ

 

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าแต่ละท่านจะสามารถนำเคล็ดลับทั้ง 7 นี้ไปใช้ได้อย่างไร ลงทุนศาสตร์ขอเป็นกำลังใจให้แก่ท่านทั้งหลายที่วางแผนจะมีลูก ไม่ว่ายากเย็นเพียงใด หวังว่าท่านทั้งหลายจะสามารถวางแผนทางการเงินไว้อย่างแข็งแรง เพื่อประคับประคองดูแลชีวิตที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ได้ดีที่สุดสมตามความตั้งใจ

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ. (ม.ป.ป.). เลี้ยงลูก 1 คน ใช้เงินเท่าไหร่. สืบค้นจาก https://www.sosthailand.org/blog/cost-to-raise-1-child
[2] Fox, M. (November 23, 2020). Expecting a baby? Make these financial moves before bringing home your bundle of joy. Retrieved from https://www.cnbc.com/2020/11/23/baby-financial-tips-new-parents.html
[3] Howard, L. (September 10, 2009). Ten of the best … ways to prepare for having a baby. Retrieved from https://www.theguardian.com/money/2009/sep/10/having-a-baby-maternity-paternity

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน