การลงทุน

สไตล์การลงทุนของ Benjamin Graham และ Philip Fisher เปรียบเทียบจากมุมมองของ Warren Buffett

สไตล์การลงทุนของ Benjamin Graham และ Philip Fisher เปรียบเทียบจากมุมมองของ Warren Buffett

สไตล์การลงทุนของ Benjamin Graham และ Philip Fisher เปรียบเทียบจากมุมมองของ Warren Buffett

 

ทั้ง Benjamin Graham, Philip Fisher และ Warren Buffett ต่างก็เป็นสุดยอดนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ Benjamin Graham (ค.ศ.1894-1976) ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) [1] ในขณะที่ Philip Fisher (ค.ศ.1907-2004) ได้รับการนับถือในฐานะผู้บุกเบิกกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นเติบโต (growth investment) [2] ส่วน Warren Buffett (ค.ศ. 1930-ปัจจุบัน) ก็มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะมหาเศรษฐีนักลงทุน และนับเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก [3]

 

ในการประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่นี้ Warren Buffett  ไม่ได้เติบโตขึ้นได้จากตนเองเพียงคนเดียว แต่เขาได้เรียนรู้จากทั้ง Benjamin Graham และ Philip Fisher เป็นที่รู้กันดีว่า Warren Buffett เรียนรู้กลยุทธ์การลงทุนแบบเน้นคุณค่ามาจาก Benjamin Graham ในขณะเดียวกัน เขายังได้เรียนรู้การรอคอยจังหวะเพื่อลงทุนโดย Philip Fisher โดยเขาได้ประยุกต์คำกล่าวของ Philip Fisher ที่ว่า The best time to sell a stock is “almost never.” ไปใช้เป็นกลยุทธ์การลงทุนของตัวเอง ในคำกล่าวที่ว่า “Favorite holding period is forever.” [4]

 

Warren Buffett ได้เคยกล่าวไว้ว่า สไตล์การลงทุนของเขา ร้อยละ 85 มาจาก Benjamin Graham และอีกร้อยละ 15 ที่เหลือมาจาก Philip Fisher [4] ทั้งนี้ เมื่อ Warren Buffett ถูกถามอีกครั้งในการสัมภาษณ์ดังที่เผยแพร่ในช่อง Simple Ideas Academy [5] เขาได้ขยายความเพิ่มเติมว่า การแบ่งตัวเลขร้อยละนี้อาจเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อเขาย้อนพิจารณาดูอีกครั้งหนึ่ง สไตล์การลงทุนของตัวเขาเองทั้งได้มาจาก Benjamin Graham และ Philip Fisher เขาเรียนรู้ทั้งจากสิ่งที่นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่สองคนนี้ทำและไม่ทำ

 

ในมุมมองของ Warren Buffett  หลักการลงทุนของ Benjamin Graham และ Philip Fisher มีความขัดแย้งกันชัดเจน Benjamin Graham ใช้หลักการลงทุนด้วยการเลือกซื้อหุ้นจากบริษัทในราคาที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับมูลค่าที่แท้จริง โดยกระจายซื้อหุ้นจากบริษัทจำนวนมาก เมื่อรอคอยถึงจุดที่บริษัททำกำไรให้ได้มากกว่ามูลค่าที่ซื้อไป นักลงทุนก็จะได้กำไรจากการลงทุนนั้น แนวคิดนี้เป็นแนวทางที่เข้าใจง่าย แต่อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนไม่ได้มีเงินลงทุนมากเพียงพอ ก็อาจไม่สามารถรอคอยให้บริษัทที่ซื้อไปในราคาต่ำฟื้นตัวขึ้นมาทำกำไรได้

 

ส่วนการลงทุนของ Philip Fisher เน้นไปที่การเลือกลงทุนในบริษัทที่ดีตั้งแต่แรกและถือครองหุ้นไว้เพื่อคอยรับผลกำไร นักลงทุนไม่จำเป็นต้องลงทุนในบริษัทจำนวนมาก เพียงแต่เลือกบริษัทที่ดีและรอคอยผลตอบแทนเท่านั้น Warren Buffett   มองว่าหลักการนี้ก็เป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนเช่นเดียวกัน แต่นักลงทุนที่จะประยุกต์ใช้หลักการนี้ได้ต้องมีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์บริษัทต่าง ๆ จนกว่าจะเลือกบริษัทที่ดีเพื่อลงทุนได้ ดังนั้น หลักการของ Benjamin Graham จึงอาจดูง่ายต่อการใช้สอนเพื่อเป็นแนวทางให้แก่นักลงทุนได้มากกว่า

 

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หลักการลงทุนของทั้ง Benjamin Graham และ Philip Fisher ล้วนแล้วแต่เป็นแนวทางที่สำคัญที่นักลงทุนควรศึกษา ไม่อาจกล่าวได้ว่าแนวทางใดดีที่สุด นักลงทุนต้องเรียนรู้จนเกิดความเข้าใจ และเลือกประยุกต์ใช้หลักการลงทุนให้เหมาะสมกับตนเอง

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อ้างอิง
[1] Chen, J. (September 24, 2020).Benjamin Method. Retrieved from https://www.investopedia.com/terms/b/benjamin-method.asp
[2] Chen, J. (April 05, 2022). Who Was Philip Fisher?. Retrieved from https://www.investopedia.com/terms/p/philip-fisher.asp
[3] THE INVESTOPEDIA TEAM. (April 19, 2022). Warren Buffett: How He Does It. Retrieved from https://www.investopedia.com/articles/01/071801.asp
[4] Hess, A.J. (January 26, 2018). These 3 people shaped Warren Buffett’s investing style. Retrieved from https://www.cnbc.com/2018/01/26/these-3-people-shaped-warren-buffetts-investing-style.html
[5] Simple Ideas Academy. (April 23, 2022). Simple Ideas Academy. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=eFzBaK7KyeI

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน