การลงทุน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยไม่ไปไหนมา 30 ปี

ดัชนีตลาดหุ้นไทยไม่ไปไหนมา 30 ปี

ดัชนีตลาดหุ้นไทยไม่ไปไหนมา 30 ปี

 

ปี พ.ศ. 2568 เพิ่งผ่านไปราว ๆ 2 เดือน แต่ต้องยอมรับว่าช่วงเวลาสั้น ๆ นี้ได้สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนไทยไปมากกว่า 150 จุดแล้ว หากนับตั้งแต่ราคาเปิดเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2568 ที่ 1,397.93 จุด มาจนถึงราคาปิดล่าสุดที่ 1,245.61 จุด (ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568) คิดเป็นการปรับตัวลดลงมากกว่า 10% ในระยะเวลาเพียงสองเดือน



วันนี้เรามาร่วมกันวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ “ปู่ SET” ของเราดิ่งหนักขนาดนี้ในเวลาอันสั้นกัน

1. EPS หรือกำไรต่อหุ้นของดัชนี SET INDEX ที่ไม่เติบโต

จากข้อมูลสถิติสำคัญตลาดหลักทรัพย์ พบว่าตั้งแต่ช่วงกันยายน 2566 จนถึงปัจจุบัน EPS ของตลาดแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบ ๆ เพียง 72-80 จุดเท่านั้น ทั้งที่หลังการเปิดเมือง EPS เคยอยู่ในกรอบ 80-92 จุด หากมองย้อนกลับไปในช่วงปี 2559-2562 เราจะพบว่า EPS ของตลาดเคยอยู่ที่ 82-106 จุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้เศรษฐกิจจะกลับมาเปิดเต็มรูปแบบแล้ว แต่กำไรของบริษัทจดทะเบียนยังไม่สามารถฟื้นกลับไปอยู่ในระดับเดิมได้

ดังนั้น หากเราพิจารณาตามสมการ PRICE = PE × EPS เมื่อ EPS หดตัวลง ราคาหรือดัชนีก็ย่อมปรับตัวลงตามไปด้วย



2. P/E ของดัชนี SET INDEX ที่แพงเกินไป
จากข้อมูลของสถิติสำคัญตลาดหลักทรัพย์และ worldperatio พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า P/E ของดัชนี SET INDEX ของเราแกว่งตัวอยู่ที่ 15-22 เท่า เมื่อเทียบกับ P/E ETF ของตลาดหุ้นประเทศเพื่อนบ้าน:
เวียดนาม: 13.46 เท่า
มาเลเซีย: 14.82 เท่า
อินโดนีเซีย: 11.61 เท่า
ฟิลิปปินส์: 9.30 เท่า
จะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นไทยมีการเทรดที่ P/E พรีเมี่ยมที่แพงกว่าตลาดอื่น ๆ ในภูมิภาค ในขณะที่อัตราการเติบโตของ EPS (ซึ่งสะท้อนผ่าน GDP โดยอ้อม) ของเราก็ไม่ได้เติบโตเทียบเท่าตลาดเพื่อนบ้าน

ดังนั้น จากสมการ PRICE = PE × EPS การที่เงินทุนไหลออกจากไทยไปยังตลาดที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก


3. การบิดเบือนจากดัชนีหุ้นด้วยหุ้นกลุ่มเล็ก ๆ
หนึ่งในคำศัพท์ที่พบบ่อยในตลาดหุ้นไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคือ “การคอเนอร์” (Corner) หรือการที่นักลงทุนกลุ่มหนึ่งถือครองหุ้นในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ สังเกตได้จากตัวเลข %Free Float ที่ตลาดหลักทรัพย์แสดงหลังการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น


ซึ่งหากหุ้นไหนมี Free Float ที่ต่ำ (เช่นน้อยกว่า 35% หรือมีหุ้นอยู่ในมือของนักลงทุนรายย่อยเพียงแค่ 35%) ก็มีโอกาสที่หุ้นของบริษัทนั้น ๆ พุ่งทะยานได้ตามหลัก Demand & Supply เมื่อใดที่ Supply หด จากการที่มีคนเก็บหุ้นเสมอ ๆ และ Demand ทะลัก ไม่ว่าจะจากการที่มีข่าวดีเข้าบริษัททั้งเทรนด์ธุรกิจขาขึ้น กำไรเติบโต การได้จับมือกับบริษัทใหญ่ ซึ่งข่าวดี ๆ เหล่านี้นับเป็นเชื้อไฟชั้นดีในการพาให้คนมารุมซื้อหุ้นได้


ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อหุ้นนั้นมี P/E สูงมาก (เช่น มากกว่า 30 เท่า) และมี Market Cap สูงกว่า 10% ของมูลค่ารวมของดัชนี เพราะการลดลงเพียง 1% ของบริษัทนี้ (แม้หุ้นตัวอื่นในดัชนีจะคงที่) สามารถทำให้ดัชนีโดยรวมลดลง 0.1% ได้ เทียบเท่ากับการลดลง 1.5 จุดเมื่อดัชนีอยู่ที่ 1,500 จุด

 

ช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยมีหุ้นที่เทรดด้วย P/E สูงและมี Market Cap สูงอยู่หลายตัว ทำให้ข่าวผลประกอบการในเชิงลบส่งผลกระทบต่อดัชนีโดยรวมได้มาก
ทั้ง 3 ประเด็นที่กล่าวมานี้ คงพอให้เห็นภาพคร่าว ๆ ถึงสาเหตุที่ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของเราปรับตัวลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา


สำหรับเพื่อนนักลงทุนที่กำลังติดหุ้นอยู่ อยากให้รู้ว่าวิกฤติเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นวัฏจักร ไม่มีหน้าฝนที่ไม่ผ่านไป และไม่มีตลาดขาลงไหนที่จะลงอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
ขอให้มองวิกฤตินี้เป็นโอกาสในการเลือกเฟ้นหุ้นดี ๆ ที่ราคาถูกลงมาเก็บสะสม เพราะช่วงเวลาที่ตลาดหวาดกลัวมักเป็นช่วงที่นักลงทุนระยะยาวมองเห็นโอกาส อย่าลืมประกาศิตตลอดกาลของ Warren Buffett ที่ว่า “จงกลัว ในยามที่ทุกคนโลภ และโลภ ในยามที่ทุกคนกลัว”


เชื่อว่าทุกท่านจะผ่านพ้นช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ไปได้ และหวังว่าทุกท่านจะสามารถสร้างผลตอบแทนตามเป้าหมายการเงินที่วางไว้ได้ในที่สุด

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
https://www.set.or.th/th/market/statistics/market-statistics/main
https://worldperatio.com/
https://stock2morrow.com/article/5934 

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน