การลงทุน

Cobra Effect กับการถัวหุ้นขาลง

Cobra Effect

Cobra Effect เป็นชื่อที่เอาไว้ใช้เรียกเหตุการณ์ที่เมื่อพยายามจะแก้ปัญหา แต่กลับทำให้ปัญหายิ่งแย่เข้าไปยิ่งกว่าเก่า คือหวังให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่ทุกอย่างกลับแย่ลงไปกว่าเดิม

 

ชื่อ Cobra Effect มาจากเหตุการณ์สมัยที่ประเทศอังกฤษอยู่ในยุคล่าอาณานิคมและยึดอินเดียเป็นเมืองขึ้น

 

รัฐบาลอังกฤษเห็นปัญหาการแพร่ระบาดของงูเห่าในเมืองเดลี ประเทศอินเดีย จึงตัดสินใจประกาศให้รางวัลกับคนที่ฆ่างูเห่าและเอาหางงูมาขึ้นรางวัลกับรัฐบาลได้ ในระยะแรก นโยบายดังกล่าวให้ผลดีมาก ประชาชนจำนวนมากฆ่างูเห่าและนำหางงูมาขึ้นรางวัลจนประชากรงูเห่าลดลงอย่างรวดเร็ว

 

แต่ปัญหาก็ดีได้อยู่ไม่นาน เมื่อเกิดประชาชนหัวหมอเริ่มทำธุรกิจเพาะเลี้ยงงูเห่าเพื่อฆ่าเอาหางไปขึ้นเงินกับรัฐบาล ธุรกิจดังกล่าวเติบโตกับเป็นล่ำเป็นสันจนรัฐบาลจับได้ จึงประกาศยกเลิกนโยบายขึ้นเงินงูเห่าในที่สุด แต่ผลกลับเลวร้ายลงถึงขีดสุด เมื่อคนที่เพาะงูเห่าไว้ฆ่าตัดสินใจปล่อยงูเห่าเข้าสู่ธรรมชาติจนงูเห่าขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นว่าประชากรงูเห่าเพิ่มสูงกว่าตอนก่อนออกนโยบายเสียอีก

 

เรียกว่ายิ่งแก้ก็ยิ่งแย่จริงๆ

 

ในทางเศรษฐศาสตร์ก็มี Cobra Effect ด้วยเช่นกัน โดยตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดคือการแก้ปัญหามลพิษที่แม็กซิโก

 

รัฐบาลแม็กซิโกได้ออกกฎหมาย Hoy No Circula หรือที่แปลเป็นไทยได้ว่า “คุณไม่สามารถขับรถได้วันนี้” โดยรัฐบาลตั้งใจจะลดปริมาณลดบนท้องถนนโดยออกกฎหมายให้รถยนต์ขับได้แค่วันคู่หรือวันคี่ตามเลขทะเบียนรถ

 

แต่ผลกลับออกมาตรงกันข้าม แทนที่ปริมาณลดจะลงกลับมากขึ้นไปอีก เพราะประชาชนตัดสินใจซื้อรถเพิ่มอีกคันเป็นอีกเลขทะเบียนเพื่อจะได้ขับรถทั้งวันคู่และวันคี่ แถมรถยนต์คันที่สอง ประชาชนมักมีงบในการซื้อน้อย ทำให้เลือกซื้อรถเก่ามือสองคุณภาพต่ำที่ส่วนใหญ่มักมีประสิทธิภาพการเผาผลาญพลังงานที่ต่ำ ยิ่งส่งมลพิษมากขึ้นให้กับเมือง กลายเป็นว่าสภาพมลพิษตกต่ำยิ่งกว่าตอนไม่ประกาศนโยบายเสียอีก

 

การซื้อหุ้นถัวเฉลี่ยขาลงโดยไม่คิดหน้าคิดหลังก็ถือเป็น Cobra Effect ประเภทหนึ่ง

 

เพราะเราต้องการจะลดการขาดทุนจึงตัดสินใจซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่าทุน ด้วยหลังจะถัวเฉลี่ยต้นทุนให้ต่ำลง เวลาราคาหุ้นเด้งขึ้นจะได้รีบขายหนีขาดทุนออกไปได้

 

แต่จากประสบการณ์ที่เจอ การถัวเฉลี่ยหุ้นขาลงโดยไม่ดูท่าทีให้รอบคอบมักเป็นการสร้างปัญหามากกว่าการแก้ปัญหา เพราะหากพื้นฐานของธุรกิจไม่ดี การยิ่งถมเงินเข้าไปซื้อหุ้นเน่าๆ ก็เหมือนกับการเพิ่มขาดทุนในหุ้นเน่าๆ ขึ้นไปอีก สุดท้ายเงินก้อนแรกก็เสีย เงินที่หวังจะเข้าไปถัวก็เสียไปอีก กลายเป็นเสียเงินมากกว่าเดิมกว่าตอนอยู่เฉยๆ เสียอีก

 

ดังนั้น การถัวเฉลี่ยหุ้นขาลงจึงจำเป็นต้องมั่นใจในพื้นฐานมากๆ ว่ามูลค่าต้องสูงกว่าราคาตลาดแน่ๆ และราคาจะต้องกลับไปสูงกว่านี้ในอนาคตได้

 

ก่อนถัวเฉลี่ยหุ้นขาลง ต้องถามตัวเองเสมอว่ามั่นใจในพื้นฐานมากแค่ไหน ถ้าไม่มั่นใจ อย่าถัว

 

เพราะจากประสบการณ์แล้ว ยิ่งถัวขาลงหนักเท่าไหร่ สุดท้ายก็เห็นกลายเป็น Cobra Effect ทุกที

 

อย่าเพาะงูหวังแค่เอาหางไปขึ้นเงิน เพราะถ้างูแว้งหันมากัด มันจะไม่คุ้มกัน!

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน