การลงทุน

การเล่นแชร์คืออะไร เสี่ยงอย่างไร และผิดกฎหมายหรือไม่

การเล่นแชร์คืออะไร เสี่ยงอย่างไร และผิดกฎหมายหรือไม่

การเล่นแชร์คืออะไร เสี่ยงอย่างไร และผิดกฎหมายหรือไม่

 

วิธีการเก็บเงินนั้นมีหลากหลาย และการเก็บเงินที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านานวิธีหนึ่งได้แก่ การเล่นแชร์ ทั้งนี้ การอธิบายว่าการเล่นแชร์นั้นเป็นอย่างไรอาจไม่ต่างอะไรกับการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนแก่ท่านที่รู้จักการเก็บออมด้วยวิธีนี้เป็นอย่างดีแล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อนำเสนอข้อมูลให้แก่ท่านผู้อ่านที่อาจยังไม่เคยเก็บออมเงินด้วยวิธีนี้ ลงทุนศาสตร์ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเล่นแชร์ ความเสี่ยง และขอบเขตในการเล่นที่ไม่ผิดกฎหมาย ดังต่อไปนี้ [1, 2, 3]

 

การเล่นแชร์นับเป็นการเก็บออมเงินควบคู่กับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงรูปแบบหนึ่ง โดยมีการตั้งวงแชร์ขึ้นเพื่อระดมเงินจากผู้คนในวงไว้เป็นกองกลาง และหมุนเวียนให้ผู้คนในวงได้รับเงินกองกลางนั้นไปในแต่ละรอบ ผู้ที่เป็นหัวหน้าวงรับผิดชอบเงินทั้งหมดที่ทุกคนในวงจ่ายมามีชื่อเรียกว่า “ท้าวแชร์” หากลูกวงไม่จ่ายเงิน ท้าวแชร์ต้องเป็นคนรับผิดชอบจ่ายแทนลูกวงคนนั้น ดังนั้น ท้าวแชร์จึงมักจะเป็นผู้ที่ได้รับเงินจากการรวมเงินในรอบแรกโดยที่ยังไม่ต้องเสนอดอกเบี้ย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการตั้งกฎของแต่ละวงแชร์

 

ต่อจากนั้น ในการประมูลเงินแต่ละครั้ง ผู้ที่ต้องการนำเงินกองกลางไปใช้จะต้องเสนอดอกเบี้ยที่ต้องการจ่าย โดยในตอนที่เสนอ จำนวนดอกเบี้ยนี้จะถูกเก็บเป็นความลับ เมื่อผลการเสนอออกมาแล้ว ผู้ที่เสนอดอกเบี้ยสูงที่สุดจะได้รับเงินก้อนใหญ่ไปใช้ก่อน การนำเงินออกไปใช้เรียกว่า “เปียแชร์” ผู้เล่นหนึ่งคนสามารถเปียได้ครั้งเดียวเท่านั้น และหลังจากเปียแล้ว ในการจ่ายเงินรอบต่อไปก็ต้องจ่ายเงินต้นรวมกับดอกเบี้ยไปด้วย เท่ากับว่าจำนวนเงินต้นจะถูกบวกด้วยจำนวนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละรอบไปด้วย ผู้เล่นคนสุดท้าย หรือที่เรียกว่า “มือบ๊วย” จึงมีโอกาสที่จะได้รับเงินจำนวนมากที่สุด ในขณะที่ผู้ที่เปียตั้งแต่มือแรก ๆ จะต้องจ่ายดอกเบี้ยทบหลายรอบมากที่สุด

 

จำนวนเงินรวมที่มือบ๊วยจะได้ ยกตัวอย่างเช่น ในวงที่มีผู้เล่น 5 คน รวมเงินมือละ 2,000 บาทตลอด 5 รอบ รอบแรกท้าวแชร์ได้เงิน 10,000 บาทไปโดยไม่เสียดอกเบี้ย รอบที่ 2 คนที่เปียเสนอดอกเบี้ยสูงสุด 100 บาท คนที่เปียในรอบที่ 3 เสนอดอกเบี้ยสูงสุดที่ 70 บาท คนที่เปียรอบที่ 4 เสนอที่ 50 บาท บวกรวมดอกเบี้ยทั้งหมดที่มือบ๊วยจะได้ในรอบที่ 5 เท่ากับ 100 คูณ 4 (คนที่เปียรอบที่สองจ่ายดอกเบี้ยในรอบที่ 2, 3, 4 และ 5) 70 คูณ 3 (คนที่เปียรอบที่ 3 จ่ายดอกเบี้ยในรอบที่ 3, 4 และ 5) และ 50 คูณ 2 (คนที่เปียรอบที่ 4 จ่ายดอกเบี้ยในรอบที่ 4 และ 5) มือบ๊วยจะได้ดอกเบี้ยรวมเท่ากับ 400 + 210 + 100 = 710 บาท รวมกับเงินต้นอีก 10,000 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 10,710 บาท

 

การเล่นแชร์มีความคุ้มค่าในกรณีที่ได้เป็นมือบ๊วย อย่างไรก็ตาม ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง หากท้าวแชร์เชิดเงินไปตั้งแต่รอบแรก ทุกคนในวงแชร์ย่อมขาดทุน หรือหากผู้ที่เปียแชร์ไปด้วยดอกเบี้ยสูงจ่ายดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นในทุกรอบไม่ไหวและหนีแชร์ไป ท้าวแชร์ต้องแบกความรับผิดชอบ และหากรับผิดชอบไม่ไหวท้าวแชร์ก็อาจหนีไปด้วยเช่นกัน ผู้ที่รอเป็นมือบ๊วยต้องแบกรับความเสี่ยงมากที่สุด เพราะมือบ๊วยคือคนที่จะได้เงินช้าที่สุด การเล่นแชร์จึงมักทำกันในวงเพื่อนหรือญาติ หรือที่ทำงานที่ไว้ใจได้ว่าคนในวงแชร์จะไม่หนีหายไปอย่างแน่นอน

 

แต่การเล่นแชร์กับคนกันเองนี้เองก็มักจะทำให้กฎไม่เป็นไปตามกฎ เช่น ผู้ที่จะเปียขอเสนอดอกเบี้ยจำนวนน้อยโดยพูดคุยกับคนในวงมาแล้วว่าอย่าเสนอดอกเบี้ยที่สูงกว่า หรือคนที่มีอำนาจมากอาจขอเสนอตัวเป็นบ๊วยเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยจากทุกคนมากที่สุด การเล่นแชร์จึงต้องอาศัยไหวพริบและความไว้เนื้อเชื่อใจไปด้วยในขณะเดียวกัน นับเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงอยู่พอสมควร

 

ไม่ว่าการเล่นแชร์จะมีความเสี่ยงอย่างไร ตามกฎหมายแล้ว การเล่นแชร์ไม่นับเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย หากผู้ที่จัดการให้มีการเล่นแชร์เป็นบุคคลธรรมดา แต่การเล่นแชร์จะผิดกฎหมายก็ต่อเมื่อผู้จัดการตั้งวงแชร์เป็นนิติบุคคล หรือหากเป็นบุคคลธรรมดา ก็ห้ามตั้งวงแชร์เกิน 3 วง ห้ามมีสมาชิกทุกวงรวมเกินกว่า 30 คน และเงินกองกลางต่องวดต้องไม่เกิน 3 แสนบาท ทั้งนี้ ท้าวแชร์ต้องไม่ได้รับผลประโยชน์อื่นนอกจากการเล่นแชร์ และการเล่นแชร์แต่ละครั้งห้ามมีการป่าวประกาศ โฆษณาให้มีผู้ร่วมเล่นด้วย

 

การเล่นแชร์มีวิธีการ ความเสี่ยง และขอบเขตดังที่ได้กล่าวมานี้ โดยกฎการเล่นแชร์ของแต่ละกลุ่มอาจมีการตั้งกติกาที่ต่างกันออกไป ทั้งนี้ การนำเสนอบทความครั้งนี้ไม่ได้ต้องการชี้นำให้ท่านผู้อ่านเข้าร่วมหรือต่อต้านการเล่นแชร์แต่อย่างใด ลงทุนศาสตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้อ่านจะได้ทำความรู้จักกับการเล่นแชร์มากยิ่งขึ้น และเก็บออมเงินตามรูปแบบที่ตนเองสนใจต่อไป

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] กรรณิกา พัสระ. (ไม่ปรากฏปีที่ตีพิมพ์). กฎหมายเกี่ยวกับการเล่นแชร์. สืบค้นจาก https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/253/files/law%20week/57/4_357.pdf
[2] eveyouloveme. (29 พฤศจิกายน 2557). วิธีการเล่นแชร์. สืบค้นจาก https://pantip.com/topic/32918141
[3] วราภรณ์ เนาว์โนนทอง. (2552). การเล่นแชร์. สืบค้นจาก https://www.pattanakit.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=538965197&Ntype=120

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน