Service Trade เมื่อการลงทุนไม่ได้มีแค่สิ่งที่จับต้องได้
ภาคบริการ กำลังมีบทบาทสําคัญมากขึ้นในเศรษฐกิจระดับโลก และเป็นหนึ่งในปัจจัยการเติบโตรวมทั้งการพัฒนาของประเทศ ผ่านการสร้างรายได้จากการจ้างงาน การค้า และการลงทุนที่มากขึ้น หากมองลึกลงไปแล้ว จะพบว่าเบื้องหลังของกิจกรรมการผลิต และความสามารถในการแข่งขันทางการค้านั้น ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับการให้บริการนั่นเอง
Service Trade หรือการค้าด้านบริการ หมายถึงการแลกเปลี่ยนสินค้าที่จับต้องไม่ได้ ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งการค้ารูปแบบนี้ มีมาอย่างยาวนานแล้ว เช่นการขนส่งระหว่างประเทศก็เรียกได้ว่าเก่าแก่พอ ๆ กับการค้าและบริการทางการเงิน โดยมากกว่าสามในสี่ของประเทศก้าวหน้า มีอัตราการจ้างแรงงานมากที่สุด และทำให้เกิดการสร้างงานใหม่ส่วนใหญ่ทั่วโลก แต่การค้ารูปแบบนี้ กลับยังไม่ได้ถูกดึงศักยภาพออกมาใช้อย่างเต็มที่ ทั้ง ๆ ที่ คิดเป็น 2 ใน 3 ของ GDP โลกเลยทีเดียว
ซึ่งมีสาเหตุมาจากความยุ่งยาก และไม่ชัดเจนทางด้านกฎเกณฑ์และเงื่อนไขทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก Service Trade เกิดขึ้นระหว่างประเทศ ก็ยิ่งทำให้การดำเนินงานซับซ้อนขึ้นไปอีก โดยข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้ต้นทุนการค้าด้านบริการสูงเป็นสองเท่าของการค้าสินค้า
Service Trade ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นต้นมา โดยส่งผลกระทบรุนแรงกับบริการที่เกี่ยวข้องกับการโต้ตอบแบบตัวต่อตัว ซึ่งในขณะนั้นการค้าบริการในภาคการท่องเที่ยวลดลงถึงร้อยละ 81 เมื่อเทียบปีต่อปีในไตรมาสที่สองของปี ค.ศ. 2020 ซึ่งหลังจากสถานการณ์โรคระบาดได้คลี่คลายลงแล้ว หลายประเทศต่างหันมาให้ความสนใจสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินงานด้านการค้า ด้านบริการ ตั้งแต่ต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้แก่การเข้าถึงบริการทางการเงิน การสื่อสารและการขนส่งที่ดี รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อเปิดตลาดซึ่งกันและกัน โดยหวังดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่มากขึ้นด้วยนั่นเอง
โดยเมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2564 กลุ่มสมาชิก WTO ได้ผ่านข้อตกลงที่จะรับมือกับความท้าทายในทางปฏิบัติสำหรับซัพพลายเออร์ด้านการบริการ ที่ต้องมีการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ โดย OECD และ WTO ได้ประเมินว่าการดำเนินการตามข้อตกลงใหม่นี้ สำหรับประเทศที่เข้าร่วมจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าได้โดยเฉลี่ย 11% และประหยัดต้นทุนการค้าได้ราว 135 พันล้านดอลลาร์
Service Trade นั้นมีบทบาทในห่วงโซ่ของคุณค่าทางเศรษฐกิจระดับโลกในหลาย ๆ ด้านคล้ายกับสินค้าทั่วไป และถึงแม้ว่าการลงทุนที่เป็นธุรกรรมระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจากการค้าด้านบริการจะวัดได้ยาก แต่ก็ยังสามารถประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ การค้าด้านบริการยังมีความสําคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี ค.ศ. 2030 ซึ่งการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคบริการภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพจะกลายเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของกลยุทธ์ในการพัฒนาประเทศ
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
https://openknowledge.worldbank.org/entities/publication/f67e66bc-335e-567a-9c6b-dde45532dd59
https://unctad.org/system/files/official-document/itcdtab20_en.pdf
https://www.weforum.org/agenda/2023/09/how-streamlining-services-can-accelerate-growth-mena/
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :