พลังของผู้คนจะมีชัยชนะเหนือการปกครองหรือไม่: 4 ปัจจัยที่อาจเอื้อให้การประท้วงในอิหร่านประสบผลสำเร็จ
ในปีค.ศ.2022 นี้ การประท้วงครั้งใหญ่ในอิหร่านเริ่มต้นขึ้นจากการเสียชีวิตของ Mahsa Amini ในวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ตำรวจศีลธรรมของประเทศควบคุมตัวเธอเนื่องจากการแต่งกายที่ถูกตัดสินว่า “ไม่เหมาะสม” เพียงเพราะเธอใส่กางเกงยีนส์และไม่ได้สวมใส่ฮิญาบ [1] เธอเสียชีวิตในขณะที่ถูกควบคุมตัว โดยมีร่องรอยของการถูกทุบตีในส่วนอวัยวะที่สำคัญ รวมถึงบริเวณศีรษะ แต่ทางการกลับออกมาปฏิเสธ และแจ้งว่าเธอเสียชีวิตจากโรคประจำตัวเท่านั้น [2]
การปฏิเสธความรับผิดชอบของทางการ และการที่ผู้หญิงคนหนึ่งที่มีอายุเพียง 22 ปีต้องเสียชีวิตเพราะถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมเนื่องจากการแต่งกาย ส่งผลให้ผู้คนในอิหร่านรู้สึกโกรธแค้น และออกมาประท้วงกันอย่างต่อเนื่อง การประท้วงลุกลามไปใน 140 เมือง และกลายเป็นความท้าทายครั้งใหม่ที่สำคัญต่อรัฐอิสลาม ผลจากการประท้วงนำมาซึ่งความเสียหายอันประเมินค่าไม่ได้ ผู้ประท้วงอย่างน้อย 326 คนเสียชีวิต และผู้ที่เสียชีวิตมีเยาวชนรวมอยู่ด้วย ในขณะที่ผู้ประท้วงมากกว่า 15,800 รายถูกคุมขัง และทางการก็เริ่มมอบโทษตายให้แก่เหล่าผู้ประท้วง [3]
ท่ามกลางสถานการณ์การประท้วงที่ดุเดือด และการตอบโต้จากทางการที่รุนแรง มี 4 ปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลให้ผู้ประท้วงในอิหร่านสามารถมีชัยชนะเหนือรัฐบาลได้ [4]
ปัจจัยแรก ได้แก่ การมีผู้นำประท้วงที่เข้มแข็ง แม้ว่าที่ผ่านมา การที่ม็อบไม่มีผู้นำจะช่วยให้การประท้วงในอิหร่านดำเนินต่อไปได้เรื่อย ๆ เพราะไม่มีแกนนำให้จับ แต่การที่ม็อบปราศจากแกนนำก็ทำให้การประสานงานม็อบในแต่ละพื้นที่เป็นไปได้ยาก และยังขาดการส่งสารที่ชัดเจนเพื่อขอความช่วยเหลือไปยังนานาประเทศ เมื่อเทียบกับการปฏิวัติในปีค.ศ.1979 แล้ว การมีผู้นำที่เข้มแข็งอย่าง Ayatollah Khomeini มีส่วนสำคัญอย่างมากในการควบคุมทิศทางการประท้วง ส่งผลให้การประท้วงประสบผลสำเร็จ
ปัจจัยที่สอง ได้แก่ ความอดทน การประท้วงให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องรอคอยผลลัพธ์ในระยะเวลาที่ยาวนาน เช่นเดียวกันกับการปฏิวัติในปีค.ศ.1979 ผู้ประท้วงต้องอดทนอดกลั้น และมั่นคงในจุดยืนของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การประท้วงครั้งนี้ที่การแตกหักระหว่างคลื่นคนรุ่นใหม่กับกฎกรอบของรัฐเก่าไม่อาจย้อนคืนเพื่อประสานกันใหม่ได้
ปัจจัยที่สาม รอยร้าวในระบอบการปกครอง สิ่งที่ถูกท้าทายให้เปลี่ยนแปลง ย่อมเป็นสิ่งที่มีรอยแผลอยู่แล้วในตัวมันเอง กฎข้อนี้ใช้ได้กับการปฏิวัติในปีค.ศ.1979 ที่การประท้วงประสบความสำเร็จ เนื่องจากความอ่อนแอแตกแยกในกลุ่มผู้นำประเทศในขณะนั้นด้วย ในการประท้วงของอิหร่านครั้งนี้ก็เช่นกัน รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพย่อมต้องเผชิญกับความกดดันนานัปการ เมื่อต้องรับมือกลับกลุ่มคนที่ไม่จำนนต่อระบบอีกต่อไป
ปัจจัยสุดท้าย ได้แก่ การแทรกแซงของต่างชาติ ลำพังรอยร้าวของระบบการปกครองก็ทำให้รัฐบาลประคองอำนาจไว้ได้ยากแล้ว ยิ่งรัฐบาลต้องเผชิญกับแรงกดดันจากต่างชาติมากเท่าไหร่ ความมั่นคงของรัฐบาลก็ยิ่งสั่นคลอนมากขึ้นเท่านั้น
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าการประท้วงในอิหร่านจะก่อให้เกิดผลลัพธ์เช่นไร ก็เชื่อได้ว่าคลื่นความเปลี่ยนแปลงโดยคนรุ่นใหม่ จะสร้างแรงสะเทือนให้ระบอบการปกครองไม่มีวันกลับมาเป็นเหมือนเดิม
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อ้างอิง
[1] Askew, J. (November 2, 2022). Iran protests: What caused them? Are they different this time? Will the regime fall?. Retrieved from https://www.euronews.com/2022/11/02/iran-protests-what-caused-them-who-is-generation-z-will-the-unrest-lead-to-revolution
[2] Al Jazeera. (October 7, 2022). Iranian coroner denies Mahsa Amini died from blows to body. Retrieved from https://www.aljazeera.com/news/2022/10/7/iranian-coroner-denies-mahsa-amini-died-from-blows-to-body
[3] BBC News. (November 14, 2022). Iran protests: Tehran court sentences first person to death over unrest. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-middle-east-63621330
[4] The Economist. (November 8, 2022). Iran protests: can they topple the regime?. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=_qKfrbDeTCY&ab_channel=TheEconomist
CR. Photo : REUTERS/Mohamed Azakir
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :