สังคมศาสตร์

สิทธิรักษาพยาบาลคนไทย มีอะไรบ้าง

สิทธิรักษาพยาบาลคนไทย มีอะไรบ้าง

สิทธิรักษาพยาบาลคนไทย มีอะไรบ้าง

 

เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องยอมรับว่าเรื่องของค่าใช้จ่ายเป็นประเด็นสำคัญมาก ในเมื่อเราไม่สามารถควบคุมได้ว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยของเราจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ไม่สบายด้วยโรคอะไร ดังนั้นแล้ว สิทธิการรักษาพยาบาลจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยบทความนี้จะมุ่งแนะนำสิทธิการรักษาที่เป็นของรัฐฯ

 

1. สวัสดิการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคืออะไร?
คือ หนึ่งในสวัสดิการรักษาพยาบาล ที่รัฐบาลจัดให้แก่ประชาชน ซึ่งสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐฯ มีทั้งสิ้น 5 กลุ่ม ดังนี้
1) สวัสดิการข้าราชการ = ใครที่รับราชการ มีสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลของรพ.รัฐได้ฟรี (กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นผู้ดูแล)
2) กองทุนประกันสังคม = เป็นสวัสดิการด้านประกันที่รัฐบาลให้สิทธิ์แก่ประชาชนในการจ่ายเงินสมทบ (ร่วมกับนายจ้าง หรือรัฐบาล) เข้ากองทุน (เรียกคนที่มีสิทธิ์กลุ่มนี้ว่า “ผู้ประกันตน”) ซึ่งเรามีสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาล, กรณีทุพพลภาพ, เสียชีวิต หรือว่างงาน จากกองทุนประกันสังคมนี้ได้ (กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เป็นผู้ดูแล)
3) สวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่น = เป็นสวัสดิการเบิกค่ารักษารพ.รัฐฯ หรือสถานพยาบาลท้องถิ่น ของข้าราชการหรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กระทรวงมหาดไท เป็นผู้ดูแล)
4) สวัสดิการของหน่วยงานรัฐอื่น ๆ = เป็นสวัสดิการเบิกค่ารักษารพ.รัฐฯ ของหน่วยงานรัฐอื่นๆที่ไม่ใช่ข้าราชการ เช่น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (หน่วยงานนั้น ๆ เป็นผู้ดูแล)
5) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ = เป็นสวัสดิการเบิกค่ารักษารพ.รัฐฯ หรือสถานพยาบาลใด ๆ ที่ลงทะเบียนกับทางรัฐ ของประชาชนคนไทยทุกคนที่ **ไม่อยู่ในกลุ่มที่มีสิทธิ์เบิก 4 กลุ่มดังกล่าวข้างต้น** (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้ดูแล)

โดยที่เราต้องไปลงทะเบียนสมัครกับหน่วยงานที่กำหนด และเขาจะให้เราเลือกโรงพยาบาลที่อยู่ในเขตใกล้บ้าน ที่เราจะใช้สิทธิ์นี้ได้เพียง 1 โรงพยาบาลเท่านั้น (ยกเว้นกรณีพิเศษต่าง ๆ ที่จะกล่าวต่อไป)

 

2. ใครที่มีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการนี้?
1) ประชาชนคนไทยทุกคน ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการหรือทำงานรัฐวิสาหกิจ (สิทธิ์สวัสดิการข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ) และไม่ได้เป็นผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคม (สิทธิ์กองทุนประกันสังคม) สามารถตรวจสอบสิทธิ์ว่าเรามีสิทธิ์เบิกสวัสดิการของรัฐฯ ในกลุ่มไหนได้ที่ http://www.nhso.go.th/peoplesearch/
2) เด็กแรกเกิดที่ไม่มีประกันสุขภาพที่พ่อแม่ซื้อให้
3) ลูกของผู้ที่เป็นข้าราชการ ซึ่งเป็นลูกที่มีอายุเกิน 20 ปี หรือสมรสแล้ว (ถ้าอายุไม่เกิน 20 ปีและยังไม่ได้สมรส สามารถเบิกในสิทธิ์ข้าราชการของพ่อแม่ได้)
4) ลูกของข้าราชการ ตั้งแต่คนที่ 4 เป็นต้นไป (สิทธิ์ลูกข้าราชการใช้ได้สูงสุด 3 คน)
5) ข้าราชการที่เกษียณก่อนกำหนด และไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ

 

3. อยากมีสิทธิ์นี้ต้องทำยังไง? ลงทะเบียนที่ไหน?
เอกสารที่ใช้
3.1) บัตรประจำตัวประชาชน (ถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้สูติบัตรแทน)
3.2) ถ้าที่อยู่ในบัตรประชาชนไม่ตรงกับที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ให้เอาทะเบียนบ้านไปด้วย
3.3) แบบคำขอลงทะเบียน (เอาที่สถานที่ลงทะเบียน)

สถานที่ลงทะเบียน
– กรุงเทพ = สำนักงานเขต 30 แห่งที่กำหนด (สามารถเช็คได้ที่ http://ebook.dreamnolimit.com/nhso/004/
– จังหวัดอื่นๆ = สถานีอนามัย / รพ.รัฐ / สำนักงานสาธารณสุขประจำจังหวัด
จากนั้นก็ระบุโรงพยาบาลที่เราจะใช้สิทธิ์

 

4. ใช้สิทธิ์โรงพยาบาลไหนได้บ้าง?
ได้เฉพาะโรงพยาบาลที่เราเลือกไว้ในเขตที่เราอยู่อาศัย (เรียกว่า “หน่วยบริการประจำ”) แต่เราสามารถขอเปลี่ยนโรงพยาบาลได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี (แจ้งได้ที่สถานที่ลงทะเบียน นำบัตรประชาชนกับทะเบียนบ้านไปแจ้ง ซึ่งจะสามารถเริ่มใช้บริการของโรงพยาบาลใหม่ได้ประมาณ 1 เดือนหลังแจ้ง)
**ยกเว้น กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน ที่เราสามารถใช้สิทธิ์ในโรงพยาบาลใด ๆ ก็ได้

 

5. ขั้นตอนการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ
กรณีทั่วไป
1. ติดต่อที่หน่วยบริการปฐมภูมิ/ หน่วยบริการประจําของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ
2. แจ้งความจํานงใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพก่อนรับบริการ
3. แสดงบัตรประจําตัวประชาชนหรือบัตรประจําตัวที่มีรูปถ่ายที่ทางราชการออกให้
สําหรับเด็กแสดงสําเนาสูติบัตร (ใบเกิด)
หมายเหตุ: คนพิการที่ได้รับการลงทะเบียนท.74 ในระบบหลักประกันสุขภาพใชสิทธิเข้ารับบริการ
สาธารณสุขกรณีที่จําเป็นจากหน่วยบริการของรัฐฯ ที่ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพได้ทุกแห่ง

กรณีอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน
ถ้าผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพเกิดอุบัติเหตุหรือภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ เข้ารับบริการที่หน่วยบริการของรัฐฯ หรือเอกชนที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ตามความจําเป็นโดยไม่จํากัดจํานวนครั้ง

กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต*
เมื่อผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตสามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ โดยใช้บัตรประจําตัวประชาชนเพื่อแสดงตนในการเข้ารับบริการจะได้รับการรักษาโดยไม่ถูกปฏิเสธและไม่ต้องสํารองจ่าย ผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตจะได้รับการรักษาจนอาการพ้นวิกฤติ จากนั้นโรงพยาบาลที่ให้การรักษาจะส่งตัวผู้ป่วยกลับไปยังหน่วยบริการประจําหรือโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่พร้อมให้การรักษาต่อไป

 

6. ใช้สิทธิ์รักษาอะไรไม่ได้บ้าง?
1) ผสมเทียมเพื่อให้มีบุตร
2) ผ่าตัดเปลี่ยนเพศ
3) การบำบัดฟื้นฟูผู้ที่ติดยาเสพติด
4) ปลูกถ่ายอวัยวะ (ยกเว้น ไต / ตับ / เปลี่ยนหัวใจ)
5) ทันตกรรมเพื่อความสวยความงาม (จัดฟัน)

เมื่อทราบเช่นนี้เเล้ว อย่าลืมไปตรวจสอบสิทธิของตนเอง อ่านกระบวนการให้เข้าใจ เพื่อให้ในวันหนึ่ง หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด จะได้สามารถดูแลตนเองหรือผู้อื่นได้ หากต้องการศึกษารายละเอียด หรือสอบถามเพิ่มเติม สามารถเข้าไปศึกษาได้ที่ เว็บไซต์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ http://www.nhso.go.th/FrontEnd/index.aspx หรือโทรไปที่เบอร์ 1330

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อ้างอิง
โรงพยาบาลจุฬาพร, สิทธิการรักษาพยาบาล, อ้างอิงจาก https://www.chulabhornhospital.com/Detail_Page/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5
สิทธิประโยชน์การบริการสุขภาพสำหรับประชากรไทยในระบบประกันสุขภาพ, 10 เรื่องควรรู้ สิทธิประกันสุขภาพ, อ้างอิง https://www.fcpproject.com/Docs/BenefitsService.pdf
คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, สรุปสวัสดิการประกันและค่ารักษาพยาบาลจากรัฐบาล, อ้างอิงจาก https://www.rama.mahidol.ac.th/health_service/th/km/09feb2018-0826

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน