สังคมศาสตร์

The Black Sea Grain Initiative ทางออกวิกฤตอาหารโลกช่วงสงครามยูเครน-รัสเซีย

The Black Sea Grain Initiative ทางออกวิกฤตอาหารโลกช่วงสงครามยูเครน-รัสเซีย

The Black Sea Grain Initiative ทางออกวิกฤตอาหารโลกช่วงสงครามยูเครน-รัสเซีย

 

ในฐานะ 2 ประเทศสำคัญที่เป็นผู้ผลิตธัญพืชออกสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะข้าวสาลีที่ผลิตรวมกันได้กว่าหนึ่งในสี่ของทั้งโลก เมื่อสงครามเริ่มประทุขึ้นก็ส่งผลให้การส่งออกสินค้าจำพวกนี้จากยูเครนและรัสเซีย เกิดการหยุดชะงักขึ้นโดยทันที ส่งผลกระทบกับประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง ที่พึ่งพิงอาหารจากประเทศทั้งสอง เมื่อท่าเรือทะเลดำเริ่มได้รับผลกระทบ

 

ทั่วโลกต่างก็จับตามองความเคลื่อนไหว เพราะทะเลดำถือได้ว่าเป็นเส้นทางการค้าและขนส่งที่สำคัญ เปรียบเสมือนเป็นหลอดเลือดแดงของยูเครนเลยทีเดียว ซึ่งยูเครนส่งออกธัญพืชราว 45 ล้านตันต่อปีไปยังตลาดโลกไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี ข้าวโพด และน้ำมันดอกทานตะวันผ่านทางท่าเรือดังกล่าว โดยในช่วงก่อนที่จะเกิดสงครามนั้น เรือมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ออกจากท่าเทียบเรือแห่งนี้ แต่งหลังจากเกิดการบุกรุกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ส่วนแบ่งนี้ลดลงเหลือเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

 

ถึงแม้จะมีความพยายามในการมองหาช่องทางขนส่งอื่น ๆ ผ่านทางโรมาเนียและบัลแกเรีย แต่ก็ต้องประสบปัญหาเมื่อท่าเรือเหล่านั้นเป็นท่าเรือแม่น้ำที่มีขนาดเล็ก ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านการกระจายสินค้าและไม่สามารถรองรับเรือบรรทุกขนาดใหญ่ได้ ส่งผลให้มีการซื้อขายในปริมาณที่ต่ำอย่างเห็นได้ชัด การหยุดชะงักของอุปทาน ผลักดันให้ราคาอาหารโลกพุ่งสูงขึ้น และเกิดภัยคุกคามทางความมั่นคงทางอาหาร โดยมีการคาดการณ์ว่าผู้คนกว่า 47 ล้านคนต้องทุกข์ทรมานจากความหิวโหยอย่างรุนแรง อันเป็นผลมาจากต้นทุนอาหารที่เพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศกําลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสงครามครั้งนี้ เนื่องมาจากต้องพึ่งพาธัญพืชและเชื้อเพลิงนําเข้า

 

หลายฝ่ายต่างมองหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น จนกระทั่งสหประชาชาติได้ริเริ่มโครงการสองโครงการ คือ 1.บันทึกความเข้าใจระหว่างสหประชาชาติและสหพันธรัฐรัสเซีย เพื่ออํานวยความสะดวกในการเข้าถึงการส่งออกอาหารและปุ๋ยไปยังตลาดโลก และ 2.ข้อตกลงธัญพืชทะเลดำ หรือที่เรียกว่า The Black Sea Grain Initiative: BSGI โดยได้รับการลงนามในอิสตันบูลเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 มีอายุ 120 วัน ข้อตกลงนี้ ระบุขั้นตอนการคุ้มครองการส่งออกธัญพืชจากท่าเรือที่กำหนดไว้ ซึ่งลงนามโดยสหประชาชาติ สหพันธรัฐรัสเซีย ตุรกี และยูเครน เพื่อให้ยูเครนสามารถกลับมาส่งออกธัญพืชผ่านทะเลดำท่ามกลางสงครามได้อีกครั้ง โดยมีการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและประสานงานในตุรกี และมีสหประชาชาติทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการ

 

หลังจากการลงนาม ทำให้ค่อย ๆ มีการเพิ่มขึ้นของเที่ยวเรือ โดย ณ วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ธัญพืชและอาหารเกือบ 8 ล้านตันได้ถูกปล่อยออกจากท่าเรือยูเครน ภายใต้ข้อตกลงและตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นทุกวัน โดยมีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลีคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งถึงแม้ว่าการส่งออกจะยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนสงครามอยู่ราว 40-50 เปอร์เซ็นต์ แต่แนวโน้มก็เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม ถือได้ว่า BSGI เปรียบเสมือนเป็นการเปิดประตูธัญพืชของยูเครนให้กับโลกอีกครั้ง ช่วยให้มีธัญพืชจําหน่ายมากขึ้น และยังช่วยลดแรงกดดันต่อราคาอาหาร ทำให้กลุ่มคนที่ยากจนและเปราะบางที่สุดสามารถเข้าถึงอาหารได้ เกิดเป็นแรงสนับสนุนการรักษาเสถียรภาพของราคาอาหาร ที่หมุนวนทั่วโลกและขจัดความอดอยากซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้าน

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
https://reliefweb.int/report/ukraine/black-sea-grain-initiative-what-it-and-why-its-important-world-enru?gclid=Cj0KCQjw4vKpBhCZARIsAOKHoWQlFpyyiPYu2JywrUaPTcgrvwtG4yXOTpy1z-IJytC56TLR6rX4w6YaAsm5EALw_wcB
https://unctad.org/a-trade-hope
https://www.nytimes.com/2022/02/24/business/ukraine-russia-wheat-prices.html
https://www.un.org/en/black-sea-grain-initiative
Credit Photo: U.N. PHOTO/MARK GARTEN

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน