ทัศนคติ

ทำไมคนเราผัดวันประกันพรุ่ง และจะแก้ไขอย่างไร

ทำไมคนเราผัดวันประกันพรุ่ง และจะแก้ไขอย่างไร

ทำไมคนเราผัดวันประกันพรุ่ง และจะแก้ไขอย่างไร

 

การทำงานในอุดมคติที่หลายคนฝันถึงคงเป็นการรู้กำหนดเวลา รู้งานที่จะต้องทำ ทำงานได้ตามนั้น เสร็จงาน และเริ่มต้นทำงานใหม่ได้ต่อไป แต่ในชีวิตจริงแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้เช่นนั้น การผัดวันไปเรื่อยกลายเป็นนิสัยประจำของใครหลายคน หากไม่เร่งด่วน เดดไลน์ไม่มา ถ้าไฟไม่ลนก้น งานก็จะไม่เดิน หากจะกล่าวถึงสาเหตุของการผัดวันประกันพรุ่ง อาจสรุปได้โดยง่ายว่าเป็นเพราะความขี้เกียจ อย่างไรก็ตาม เบื้องลึกเบื้องหลังของนิสัยนี้อาจมีที่มาที่มากกว่านั้น ในครั้งนี้ ลงทุนศาสตร์ขอพาทุกท่านไปสำรวจนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง [1,2] และทางแก้ไข [3] ดังนี้

 

นิสัยผัดวันประกันพรุ่ง ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “procrastination” หากพิจารณาจากรากคำแล้ว คำดังกล่าวมาจากกริยาในภาษาละติน คำว่า “procrastinare” ซึ่งมีความหมายว่า ทิ้งไว้ก่อนจนกว่าจะพรุ่งนี้ แต่นอกจากรากคำในภาษาละตินแล้ว คำนี้ยังมีที่มาจากภาษากรีก คือ “akrasia” ซึ่งหมายถึง การกระทำบางอย่างที่ขัดแย้งต่อดุลยพินิจที่ดีของตัวเอง เมื่อพิจารณารากคำในภาษากรีกแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่า การผัดวันประกันพรุ่งมีที่มาซับซ้อนกว่าความขี้เกียจ เพราะแสดงให้เห็นถึงการกระทำที่ขัดแย้งต่อสิ่งที่รู้อยู่แก่ใจว่าควรจะต้องทำ

ความหมายที่มาจากรากคำในภาษากรีกนี้สอดคล้องกับแนวคิดทางจิตวิทยา ดังที่ Dr. Piers Steel ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาแรงจูงใจจาก University of Calgary ได้อธิบายว่า การผัดวันประกันพรุ่งเป็นการทำร้ายตัวเองอย่างหนึ่ง คนทุกคนตระหนักรู้ถึงสิ่งที่ควรทำ เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำงาน ก็ย่อมรู้ว่ามีงานที่ต้องทำ ดังนั้น การตัดสินใจผัดผ่อนจึงขัดแย้งกับความรู้สึกรับผิดชอบภายในตัวเอง และส่งผลให้ผู้ที่ผัดวันประกันพรุ่งรู้สึกผิด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเลือกจะผัดผ่อนงานออกไปก่อนอยู่ดี

 

รู้สึกผิดที่ยังไม่ทำงาน แต่ก็ยังผัดผ่อนงานซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผู้คนมากมายจมอยู่ในวงจรนี้โดยคิดว่าตัวเองอาจจะแค่ขี้เกียจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การไม่ทำสิ่งที่รู้ตัวอยู่แล้วว่าควรทำมีที่มาจากความรู้สึกติดลบบางอย่างในงานนั้น ตามธรรมชาติของมนุษย์แล้ว หากงานนั้นสามารถทำให้ผ่านไปได้ง่าย มนุษย์ย่อมไม่ยอมจมอยู่กับความรู้สึกผิดที่ไม่ลงมือทำ แต่หากงานชิ้นนั้น หรือปัจจัยแวดล้อมในขณะนั้นก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นลบ ย่อมส่งผลต่อแรงจูงใจในการลงมือทำงานนั้น

 

ท่านผู้อ่านอาจจะเคยมีประสบการณ์การเป็นคนผัดวันประกันพรุ่ง ยังไม่ทำงาน เพียงเพราะข้างบ้านขุดเจาะก่อสร้างเสียงดัง ทำให้ไม่มีอารมณ์ทำงาน หรือการไม่อยากทำชิ้นงานส่งอาจารย์ เพราะไม่พึงพอใจเกณฑ์การให้คะแนนหรือลักษณะการสอนของอาจารย์ผู้นั้น สาเหตุที่ดูเหมือนเล็กน้อยเหล่านี้เองกลายเป็นเรื่องใหญ่เมื่อต้องบังคับตัวเองให้ทำงานที่ควรทำ

 

เมื่อได้รู้ดังนี้แล้วว่าการผัดวันประกันพรุ่งไม่ได้มีที่มาเพียงเพราะความขี้เกียจ แต่เป็นเพราะอารมณ์ความรู้สึกที่ติดลบ ทางแก้ของการผัดผ่อนจึงไม่ใช่แค่การบังคับตัวเองให้ขยัน แต่เป็นการหาให้เจอว่าสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกลบคืออะไร และพยายามปรับทัศนคติ หรือแก้ไขปัญหาเหล่านั้น หากข้างบ้านเสียงดัง ท่านผู้อ่านอาจจะย้ายไปทำงานในสถานที่อื่น หรือหากไม่พอใจผู้ที่มอบหมายงาน ก็อาจต้องปรับทัศนคติให้ตนเองเข้าใจใหม่ว่างานชิ้นนี้ทำไปเพื่อให้เกิดการเรียนรู้บางอย่างภายในตนเอง ไม่จำเป็นต้องยึดติดความชอบหรือไม่ชอบในงานกับคนที่สั่งมา

 

วิธีการจัดการกับความคิดลบของแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกัน ลงทุนศาสตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านที่กำลังอ่านมาถึงตรงนี้ จะสามารถจัดการความคิดติดลบที่เป็นอุปสรรคทำให้งานไม่คืบหน้า และจัดการงานการที่คั่งค้างได้โดยไม่ต้องผัดวันประกันพรุ่งอีกต่อไป

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] Lieberman, C. (March 25, 2019). Why You Procrastinate (It Has Nothing to Do With Self-Control). Retrieved from https://www.nytimes.com/2019/03/25/smarter-living/why-you-procrastinate-it-has-nothing-to-do-with-self-control.html
[2] Ted-Ed. (October 27, 2022). Why you procrastinate even when it feels bad. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=FWTNMzK9vG4&ab_channel=TED-Ed
[3] Booth, F. (June 6, 2014). 10 Productivity Tips For Procrastinators. Retrieved from https://www.forbes.com/sites/francesbooth/2014/06/06/10-productivity-tips-for-procrastinators/?sh=7bedc3067d4a

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน