กับดักของคนอยากโปรดักทีฟ ยุ่งอยู่ตลอดเวลาไม่ได้แปลว่าจะได้งานเสมอไป
โปรดักทีฟ ซึ่งมาจากคำภาษาอังกฤษที่ว่า productive เป็นคำคุณศัพท์ที่อาจแปลได้ง่าย ๆ ว่า “ได้การได้งาน” [1] การเป็นคนโปรดักทีฟก็เท่ากับว่าเป็นคนที่ทำงานขยันขันแข็งอยู่เสมอ เสร็จงานนั้นต่องานนี้ ใช้เวลาอย่างคุ้มค่ามีประโยชน์และมีประสิทธิภาพ [2] อย่างไรก็ตาม หลุมพรางของการเป็นคนโปรดักทีฟอย่างแท้จริงนั้นมีอยู่มากมาย โดยเฉพาะการเชื่อไปเองว่า ยิ่งทำตัวยุ่งมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นคนโปรดักทีฟมากขึ้นเท่านั้น [3]
ในครั้งนี้ ลงทุนศาสตร์ขอนำเสนอความแตกต่างระหว่างการเป็นคนโปรดักทีฟที่จริงแท้ และการเป็นแค่คนทำตัวยุ่ง เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ลองพิจารณากัน ดังต่อไปนี้
การเป็นคนโปรดักทีฟ หมายถึงการบริหารจัดการเวลาอย่างคุ้มค่า หากเปรียบเทียบการบริหารจัดการงานกับการยิงลูกบอลเข้าสู่ประตู คนโปรดักทีฟจะรู้เสมอว่าเป้าหมายที่ต้องการอยู่ตรงไหน และค่อย ๆ ขับเคลื่อนตัวเองไปยังเป้าหมายที่ต้องการวันละนิด ขยับลูกบอลให้ใกล้ประตูวันละหน่อย
ยกตัวอย่างเช่น หากเป้าหมายคือการสร้างเว็บไซต์ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก คนโปรดักทีฟจะค่อย ๆ ทำตามแผนตั้งแต่วันที่ 1 ด้วยการสร้างเว็บไซต์ ซื้อโดเมนเนม ใช้เวลาวันที่ 2 กับการวางแผนเขียนโปรโมตแบรนด์ เริ่มลองเขียนบล็อกในวันที่ 3 และหาทางเอาเนื้อหาที่เขียนไปปรับแต่งลงเว็บไซต์ในวันที่ 4
ผู้คนที่โปรดักทีฟใช้เวลาอย่างคุ้มค่าเพื่อเข้าใกล้สิ่งที่ต้องการทีละนิด ในทางกลับกัน ผู้คนที่ยุ่งอยู่ตลอดเวลานั้น หากเปรียบกับการยิงลูกบอลเข้าประตูเช่นเดียวกัน คนกลุ่มนี้เป็นคนที่ไม่ยอมยิงลูกให้เข้าเป้าสักที แต่จะเสียเวลาอย่างมากกับการค้นหาแผนการ สืบค้นยุทธวิธี แผนรบเป็นร้อยแค่การลงสนามเป็นศูนย์ มีลิสต์สิ่งที่ต้องทำอยู่ร้อยอย่างแต่ลงมือทำไม่เสร็จสักอย่าง เพราะมัวแต่หวังว่าทุกอย่างที่ทำจะต้องเสร็จตู้มเดียวอย่างสมบูรณ์แบบ
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่คนทำตัวยุ่งทั้งหลายจะทำก็มีเพียงการกังวล คิดฝันถึงงานอันมากมายแต่ไม่ขยับเข้าใกล้ความเป็นจริง ยิ่งทิ้งเวลาไปกับความคิดกังวลมากเท่าไหร่ ความกดดันในเดดไลน์และความไม่แน่ใจความสามารถของตนเองก็ทบทวีมากเท่านั้น ทำให้งานไม่เสร็จเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ได้ผลผลิตอย่างที่ใจต้องการสักที
หากว่าท่านเป็นหนึ่งในคนที่ทำตัวยุ่ง อย่าเพิ่งท้อแท้ในสิ่งที่เป็น เพราะใคร ๆ ก็อาจเคยตกหลุมพรางอยู่ในกับดักของความกังวลจนไม่ได้ลงมือทำด้วยกันทั้งนั้น หากต้องการเปลี่ยนจากการทำตัวไม่ว่าง ให้เป็นคนได้การได้งานอย่างแท้จริง ท่านสามารถเริ่มต้นจากการบริหารจัดการเวลา กางปฏิทินออกมา และกำหนดสิ่งสำคัญที่ต้องทำแค่เพียงหนึ่งอย่างในช่วงเวลาหนึ่ง ยังไม่ต้องคิดถึงการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้ได้ในคราวเดียว ขอให้เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ไว้ก่อน พยายามตัดสิ่งเล็กน้อยที่อาจเป็นอุปสรรคออกไป
ลงทุนศาสตร์ขอเอาใจช่วยให้ทุกท่านที่มีเป้าหมายสำคัญค่อย ๆ ก้าวเข้าใกล้จุดหมายปลายทางที่ต้องการวันละนิด และขอให้จดจำเอาไว้ว่า การทำสิ่งตัวเองต้องการทำให้ได้ต่อเนื่องในทุกวันมีความหมายมากกว่าการคิดฝันแต่ไม่ลงมือทำอะไรเลย
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
[1] Plook Magazine. (23 เมษายน 2565). ไม่ Productive สักวันก็ไม่เป็นไร ใช้ชีวิตยากไปเดี๋ยวเครียด !. สืบค้นจาก http://www.plookfriends.com/blog/content/detail/88584
[2] รวิศ หาญอุตสาหะ. (2564). ทำงานและใช้ชีวิตอย่างไรให้ Super Productive. สืบค้นจาก https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/be-super-productive
[3] Jennifer Cohen. (June 25, 2018). Busy Vs. Productive: Which One Are You?. Retrieved from https://www.forbes.com/sites/jennifercohen/2018/06/25/busy-vs-productive-which-one-are-you/?sh=2a915a477d79
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :