การลงทุน

เครื่องสำอาง KAMART 200 เด้ง

KAMART

KAMART หรือบริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) คือบริษัทผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่หันมาจับธุรกิจเครื่องสำอางจนประสบความสำเร็จ หลังที่ก่อนหน้านี้เคยทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าในชื่อ บริษัท ไดสตาร์ อิเลคทริก คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก โดยคาร์มาร์ทถือเป็นหุ้นเปลี่ยนชีวิตของนักลงทุนหลายคนอีกตัวหนึ่ง เพราะในยุคสมัยไดสตาร์ ราคาหุ้นอยู่ในหลักต่ำบาทเท่านั้น แต่หลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจจนประสบความสำเร็จในวงการแวดวงเครื่องสำอาง หุ้นคาร์มาร์ทก็มาทำจุดสูงสุดที่สูงกว่า 10 บาทต่อหุ้น (อ่านเพิ่มเติมเรื่องการเทิร์นอะราวน์ธุรกิจเครื่องสำอาง : เมื่อเฮียฮ้อ RS ขายครีม)

 

KAMART

 

ย้อนหลังกำไรของบริษัท

 

ปี 2009 เริ่มต้นทำธุรกิจเครื่องสำอาง

ขาดทุน 263.6 ล้านบาท

ปี 2010 ยอดขายเครื่องสำอางเติบโตกว่า 100%

กำไร 52.6 ล้านบาท

ปี 2011 เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นบริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน)

กำไร 112.1 ล้านบาท

ปี 2012 เข้าสู่ธุรกิจเครื่องสำอางเต็มตัว

กำไร 152.0 ล้านบาท

ปี 2013 ขยายช่องทางจัดจำหน่ายและเริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์

กำไร 161.0 ล้านบาท

ปี 2014 เริ่มธุรกิจผลิตเครื่องสำอางของตนเอง และตัดขาดทุนกิจการเก่า

กำไร 92.2 ล้านบาท

ปี 2015 ตั้งบริษัทร่วมค้าเครื่องสำอางในประเทศเวียดนาม

กำไร 209.7 ล้านบาท

ปี 2016 ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ชลอตัวของการบริโภคอย่างรุนแรงช่วงปลายปี

กำไร 263.8 ล้านบาท

ปี 2017 สภาพการบริโภคในประเทศยังอ่อนแออย่างต่อเนื่อง

กำไร 281.6 ล้านบาท

 

KARMART

 

KAMART ถือเป็นตัวอย่างธุรกิจที่สามารถ “เทิร์นอะราวน์” หรือ “พลิกฟื้น” จากกิจการที่เสื่อมถอยกลับมามีชีวิตรอดและเติบโตได้อีกครั้งจนประสบความสำเร็จ จากบริษัทที่เคยขาดทุนหนักถึงปีละเกือบ 300 ล้านบาทพลิกมาจนปัจจุบันมีกำไรเกือบปีละ 300 ล้านบาท จากหุ้นที่มีราคาต่ำสุดประมาณ 0.06 บาทขึ้นไปทำจุดที่สูงสุดที่ประมาณ 10.95 บาทหรือคิดเป็นหุ้น 182.5 เด้ง เทียบเท่ากับผลตอบแทน 18,150% ในขณะที่หากนับรวมผลตอบแทนจากเงินปันผลแล้ว การลงทุนใน KAMART จะให้ผลตอบแทนสูงถึง 202 เด้ง หรือ 20,116% เลยทีเดียว

 

แต่ในช่วงปี 2017 คาร์มาร์ทมีการเติบโตค่อนข้างน้อย

 

รายได้ของบริษัทเติบโต 7.13% และกำไรของบริษัทเติบโต 6.75% ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลกระทบมาจากภาวะชลอตัวของการจับจ่ายใช้สอยและการโฆษณารื่นเริ่งภายในประเทศ ทำให้คาร์มาร์ทที่เป็นบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคที่อ้างอิงการตลาดเป็นหลักดูเติบโตได้อย่างทรงๆ

 

KARMART ต้องมองหา s-curve ใหม่ของบริษัทให้ได้

 

การผลิตและนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางมาจัดจำหน่ายตามร้านค้าปลีกทั้งสมัยใหม่และดั้งเดิมของบริษัทนั้นดูมีแนวโน้มจะ “เต็ม” ในแง่ของการเพิ่มจำนวนช่องทางแล้ว การเติบโตต่อไปจึงอาจต้องพึ่งพิงการเติบโตของสินค้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพ เช่น การขึ้นราคาสินค้า หรือการมีสินค้าขายดีใหม่เพิ่มเติม ซึ่งถ้าคาร์มาร์ทจะโฟกัสก็คงต้องไปวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่ม รวมถึงทุ่มงบการตลาดในการประชาสัมพันธ์

 

แต่ถ้าคาร์มาร์ทจะเพิ่มจำนวนช่องทาง สิ่งสำคัญที่ทำได้คือการกลับมาพัฒนาระบบแฟรนไชส์และหน้าร้านคาร์มาร์ทที่ตนมีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะการมีหน้าร้านมากขึ้นย่อมเพิ่มจุดจำหน่ายและจุดประชาสัมพันธ์ไปในตัว รวมไปถึงการขยายตลาดไปต่างประเทศก็ถือว่าเป็นการสร้างการเติบโตที่น่าสนใจมากอีกประการหนึ่งเลยทีเดียว

 

(อ่านเพิ่มเติมการวิเคราะห์พื้นฐานธุรกิจเครื่องสำอางเชิงเปรียบเทียบในตลาดหุ้นไทย : เปิดสมรภูมิศึกชิงบัลลังก์เจ้าแม่เครื่องสำอางไทย)

 

สรุปคือ สิ่งที่นักลงทุนคาดหวังจากคาร์มาร์ทคือ “การโฟกัสที่จะเติบโต”

 

KARMART

 

ธุรกิจเครื่องสำอางถือเป็นธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่มหาศาล บริษัทมียอดขายที่พันกว่าล้านยังห่างไกลจากคำว่าอิ่มตัวจากอุตสาหกรรมที่มีขนาดเป็นแสนล้านมาก (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง 10 หุ้นเครื่องสำอางในตลาดหุ้นไทย : 10 หุ้นเครื่องสำอางในตลาดหุ้นไทย) สิ่งสำคัญคือคาร์มาร์ทคงจะต้องกลับมาโฟกัสว่าจะเติบโตไปในทางไหนมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะวิธีการเติบโตแบบเดิมของคาร์มาร์ทนั้นก็เริ่มส่งสัญญาณว่าค่อยๆ สร้างการเติบโตของยอดขายและกำไรได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

หากคาร์มาร์ทสามารถโฟกัสจนหาวิธีการเติบโตใหม่ของบริษัทได้แล้ว ไม่แน่ว่าบริษัทอาจจะเปลี่ยนสถานะจากร้อยเด้งในวันนี้เป็นหุ้นพันเด้งในวันหน้าก็เป็นได้

 

เราคงต้องจับตากันดูต่อไปว่าคาร์มาร์ทจะหาวิธีการเติบโตได้หรือไม่ อย่างไรเท่านั้นเอง

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน