การลงทุน

รับมืออย่างไรในวันที่ขาดทุน คำแนะนำตามหลักจิตวิทยา

รับมืออย่างไรในวันที่ขาดทุน คำแนะนำตามหลักจิตวิทยา

รับมืออย่างไรในวันที่ขาดทุน คำแนะนำตามหลักจิตวิทยา

 

การลงทุนนั้นเกี่ยวข้องกับการได้กำไรและขาดทุน เมื่อตัดสินใจเริ่มลงทุน นักลงทุนต้องเตรียมใจพร้อมรับมือกับการขาดทุนอยู่ตลอดเวลา แม้แต่นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ยังเคยตัดสินใจผิดพลาด [1] สิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุนที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนตลอดเวลา จึงเป็นการเตรียมใจรับมืออย่างมั่นคง

 

วิธีการรับมือในยามที่ขาดทุนของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไป แต่นักลงทุนควรระวังกลไกการรับมือในทางที่ผิด ในทางจิตวิทยา การรับมือกับความสูญเสียในทางที่ผิดมีอยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่ การกดความรู้สึกผิดหวังจากการลงทุนพลาดและฝืนลงทุนต่อไป การโยนความผิดพลาดไปให้สิ่งอื่น รวมถึงการปฏิเสธความจริงและหลอกตัวเองให้เชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น [2] ดังนั้น เมื่อเผชิญกับความผิดหวังจากการลงทุน นักลงทุนควรรับมือกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมตามหลัก 7 ประการ ดังนี้ [3]

 

ข้อแรก นักลงทุนไม่ควรปล่อยให้วันที่ผิดพลาดเพียงวันเดียวทำลายความภาคภูมิใจของวันอื่น ๆ ไป การผิดพลาดเพียงครั้งเดียวไม่ได้หมายความว่านักลงทุนกำลังล้มเหลว นักลงทุนควรพิจารณาดูการขาดทุนที่เกิดขึ้น เพื่อเรียนรู้สำหรับการลงทุนต่อไปในระยะยาว

 

ข้อต่อมา นักลงทุนควรทำความรู้จักกับ stop loss ซึ่งหมายถึงการตัดสินใจกำหนดจุดตัดขาดทุนที่ชัดเจน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ขาดทุนมากจนเกินไป หากนักลงทุนครอบครองหุ้นหลายตัว ก็ไม่ควรชะล่าใจโดยพิจารณาแต่หุ้นที่ทำกำไรได้ดี นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จล้วนบริหารจัดการหุ้นทั้งหมดที่มี โดยไม่ละเลยการขาดทุนของหุ้นตัวใด

 

ข้อสาม อย่าลงทุนเพื่อการแก้แค้น การลงทุนแล้วสูญเสียจำนวนมากก่อให้เกิดความรู้สึกที่รุนแรง ทั้งโกรธ เกลียด เสียใจ ในข่วงที่อารมณ์ขุ่นมัวและแกว่งไปมาอย่างรุนแรง นักลงทุนควรหลีกเลี่ยงการตัดสินใจในช่วงนั้น เพราะการลงทุนตามอารมณ์และพึ่งพาโชคชะตา ไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นการพนัน

 

ข้อสี่ ยอมรับกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น นักลงทุนทุกคนล้วนรู้ดีว่าในการลงทุนมีทั้งได้และมีทั้งเสีย การยอมรับการขาดทุนไว้ในฐานะของนักลงทุนที่รู้ตัวดีว่ากำลังเลือกลงทุนอยู่บนความเสี่ยง ย่อมทำให้นักลงทุนสามารถพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง การรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยตัวเองนั้นดีกว่าการโทษปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง เพราะความคิดที่โทษสิ่งอื่นนอกจากตัวเองนั้นสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนมองเห็นว่าตัวเองไม่สามารถควบคุมการลงทุนของตนเองได้เลย

 

ข้อห้า หยุดพักการลงทุนไปก่อน แม้ว่าการหยุดพักการลงทุนจะเป็นเรื่องยาก แต่การถอยออกมาจากสถานการณ์ที่บอบช้ำจะช่วยให้นักลงทุนได้มีเวลาเยียวยาความรู้สึกของตนเอง การขาดทุนจำนวนมากนั้นส่งผลโดยตรงต่อสภาพจิตใจ นักลงทุนควรรอให้จิตใจนิ่งลง ประเมินสิ่งที่เกิดขึ้น หาสาเหตุของความผิดพลาด และหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำซ้ำเดิม

 

ข้อหก เมื่อกลับมาลงทุน ควรเริ่มจากจำนวนที่น้อยลง การกลับมาเริ่มลงทุนอีกครั้งหลังจากขาดทุนครั้งใหญ่ต้องใช้สติ ใช้ความระมัดระวัง รวมถึงความมั่นใจ การกลับมาลงทุนทีละน้อยจะช่วยให้นักลงทุนค่อยๆ กลับมาเริ่มใหม่ได้อย่างมั่นคงมากขึ้น

 

และข้อสุดท้าย นักลงทุนพึงระลึกไว้เสมอว่าการลงทุนนั้นเป็นกระบวนการ กำไรหรือขาดทุนเป็นเพียงผลลัพธ์ ผู้เลือกลงทุนต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ผ่านเวลาอย่างยาวนาน ผ่านทั้งความสำเร็จและล้มเหลว ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนับเป็นขั้นตอนหนึ่งที่ผ่านมาเพื่อให้นักลงทุนได้เรียนรู้ ถอดบทเรียนเพื่อจะไม่ทำผิดซ้ำ และก้าวต่อไปเท่านั้น

 

แม้ว่านักลงทุนต้องพบกับการขาดทุนอยู่เสมอ แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการได้กำไรหรือขาดทุน คือวิธีการที่นักลงทุนใช้รับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ย่อมเปลี่ยนแปลงความผิดพลาดให้เป็นบทเรียนล้ำค่า ส่งเสริมให้นักลงทุนเข้มแข็งขึ้นและประสบความสำเร็จได้ในอนาคต

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อ้างอิง
[1] Woods, L. (December 15, 2017). Warren Buffett’s failures: 15 investing mistakes he regrets. Retrieved from https://www.gobankingrates.com/investing/7-investing-mistakes-warren-buffett-regrets/#16
[2] Bloch, B. (October 22, 2021). AMBLING
Psychological Coping Strategies for Handling Losses. Retrieved from https://www.investopedia.com/articles/financial-theory/12/psychological-coping-strategies.asp
[3] Secret Mindset. (August 10, 2020). 7 Trading psychology & discipline rules to deal with losses (the winning mindset of a trader). Retrieved from https://youtu.be/F_WxllDE2TA

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน