ชวนมารู้จัก Green bonds พันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม
พันธบัตรสีเขียว เป็นเครื่องมือทางการเงินอย่างหนึ่ง มีลักษณะเป็นตราสารหนี้ ซึ่งทำงานเหมือนกับพันธบัตรทั่วไป แต่มีข้อแตกต่างในเรื่องของวัตถุประสงค์ โดยเงินที่ระดมได้จากนักลงทุน จะถูกใช้เป็นเงินทุนสำหรับโครงการที่สร้างผลประโยชน์เชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม หรือสภาพภูมิอากาศ โดยนักลงทุนจะได้รับเงินต้นเมื่อสิ้นสุดอายุเงินกู้ นอกเหนือจากการจ่ายดอกเบี้ย (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเงินกู้) ตลอดระยะเวลาของเงินกู้ ในขณะที่พันธบัตรทั่วไป จะออกเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับโครงการทั่ว ๆ ไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนทั่วไป หรือรีไฟแนนซ์หนี้ที่มีอยู่
โดยพันธบัตรเขียว มักใช้เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับโครงการประเภทดังต่อไปนี้ โครงการประหยัดพลังงาน, โครงการพลังงานทดแทน, โครงการป้องกันและควบคุมมลพิษ, โครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและที่ดิน, โครงการขนส่งสะอาด, โครงการจัดการน้ำและน้ำเสีย และ โครงการอาคารสีเขียว เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่าจุดเริ่มต้นของ พันธบัตรเขียว นั้นมาจากในปี ค.ศ. 2007 เมื่อคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel for Climate Change) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ ได้ตีพิมพ์รายงานที่เชื่อมโยงภาวะโลกร้อน และกิจกรรมของมนุษย์ โดยรายงานฉบับนั้น กระตุ้นให้กองทุนบําเหน็จบํานาญของสวีเดนหลายแห่ง พิจารณาโครงการจัดหาเงินทุนที่มีส่วนในเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม และในปี ค.ศ. 2008 ธนาคารโลกก็ได้ออกพันธบัตรสีเขียวครั้งแรก ที่ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว โดยอยู่ภายใต้ “กรอบยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
พันธบัตรเขียวสามารถออกโดยรัฐบาลธนาคารข้ามชาติหรือ บริษัท และองค์กรต่าง ๆ โดยจะต้องมีการปฏิบัติตามหลักการ Green Bond principles ที่กำหนดโดย International Capital Market Association (ICMA) โดยทั่วไปแล้ว จะมีองค์กรหรือบุคคลที่สามเป็นฝ่ายตรวจสอบความถูกต้องของพันธบัตรเขียว เพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจ โดยป้องกันการอ้างสิทธิ์ที่อาจทำให้เข้าใจผิดได้ โดยมีองค์กร Climate Bonds Initiative เป็นผู้จัดทำรายชื่อผู้ตรวจสอบ และเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการติดตามการเติบโตของตลาดตราสารหนี้สีเขียว
ปัจจุบันความนิยมของพันธบัตรเขียวเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเพิ่มความพยายามในการลดการปล่อยคาร์บอน ตลาดพันธบัตรเขียวจึงเฟื่องฟู นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนหลักจากนักลงทุนที่มีเป้าหมายการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) และโดยทั่วไปแล้วนั้นพันธบัตรเขียวมักเสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การยกเว้นภาษีและเครดิตภาษี จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนสำหรับตลาดนี้อีกด้วย
โดยในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2021 สหภาพยุโรป (EU) ออกพันธบัตรประมาณ 14 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยมีมาในขณะนั้น ปัจจุบันมากกว่า 50 ประเทศได้ออกพันธบัตรเขียว โดยสหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งออกพันธบัตรเขียวที่ใหญ่ที่สุด การลงทุนอย่างยั่งยืน ดูเหมือนจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากรัฐบาลในหลายประเทศให้ความสําคัญกับปัญหาสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับต้น ๆ ด้วยการผสมผสานระหว่างความมุ่งมั่นทางการเมือง และความต้องการของนักลงทุนตลาดตราสารหนี้สีเขียวกําลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ตามข้อมูลของ S&P Global รายงานว่าปี ค.ศ. 2023 การออกพันธบัตรเขียวอาจสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นั่นนับได้ว่า เป็นก้าวสำคัญ แม้ว่าจะยังเป็นเพียงส่วนเล็กในตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก โดยรวมซึ่งอยู่ที่ประมาณ 130 ล้านล้านดอลลาร์ แต่นี่ก็อาจกล่าวได้ว่า ยังมีพื้นที่มากมายสำหรับพันธบัตรสีเขียวที่จะเติบโตต่อไป
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
https://www.iberdrola.com/sustainability/investments-green-bonds
https://www.weforum.org/agenda/2023/11/what-are-green-bonds-climate-change/
https://corporatefinanceinstitute.com/resources/esg/green-bond/
https://www.investopedia.com/terms/g/green-bond.asp
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :