ข้อมูลในตลาดหุ้น ถือเป็นหัวใจหลักของการลงทุน ในตลาดหุ้น หากเราจะเรียกว่า “ข้อมูล” เป็นเหมือนอาวุธก็คงไม่ผิดนัก เพราะคนมีข้อมูลมีข้อได้เปรียบเหนือกว่าคนไม่มีข้อมูลมาก ดังที่เราคงได้เห็นจากกรณีการใช้ข้อมูลวงใน หรือ insider trading ที่มีอยู่เสมอๆ ในตลาดหุ้น
ส่วนตัวมอง “ข้อมูล” ทุกประเภทเป็น 2 มิติเสมอ
มิติแรกของข้อมูล คือ “เนื้อข้อมูล”
เนื้อข้อมูลนี้หมายถึงสิ่งที่ข้อมูลกล่าวถึงนั่นเอง เนื้อข้อมูลอาจจะมาในรูปแบบของ (1) ข้อมูลเชิงปริมาณ เช่น ยอดขายของบริษัทปีนี้อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท สาขาของบริษัทอยู่ที่ 250 สาขา หรือ ผู้บริหารตั้งเป้ากำไรปีนี้โต 20% ส่วนเนื้อข้อมูลอีกแบบพูดถึง (2) ข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น ผู้บริหารคนนี้เป็นคนโปร่งใส อาหารที่บริษัทขายฤดูกาลใหม่อร่อยมาก หรือ พนักงานต้อนรับโรงแรมในเครือบริษัทบริการดีมาก เป็นต้น
เนื้อข้อมูล เป็นข้อมูลเชิงพื้นฐาน เป็นสิ่งที่ใครก็มองเห็นได้ ถือได้ว่าไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร แม้แต่คนที่ไม่มีความรู้ด้านการลงทุนก็สามารถเข้าใจได้ไม่ยากนัก
อีกมิติหนึ่งของข้อมูล คือ “ความน่าเชื่อถือของข้อมูล”
ความน่าเชื่อถือของข้อมูลหมายถึงเนื้อข้อมูลที่ข้อมูลกล่าวถึงในมิติแรกนั่น มีความน่าเชื่อถือมากเท่าไหร่ มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นจริงได้ในระดับไหน อย่าลืมว่าข้อมูลทุกอย่างไม่จำเป็นจะเป็นเรื่องจริง บางอย่างอาจจะเป็นไปได้ บางอย่างอาจจะเป็นไปไม่ได้ หรือบางอย่างอาจจะเป็นแค่เรื่องโกหกหลอกลวงในตลาดหุ้นเฉยๆ
หากให้ความน่าจะเป็นสูงสุดอยู่ที่ 1 และความน่าจะเป็นต่ำสุดอยู่ที่ 0 เราอาจจะเป็นภาพการวิเคราะห์ความน่าจะเป็นของข้อมูลได้ง่ายขึ้น เช่น ข่าวลือตามไลน์ที่ส่งต่อๆ กันมา แบบนี้เราอาจจะให้ความน่าจะเป็นเพียง 0.05 ตัวเลขประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจของภาครัฐ เราอาจจะให้ความน่าเชื่อถือที่ 0.4 เป้าหมายกำไรที่ผู้บริหารตั้งเป้าหมาย เราอาจจะให้ความน่าจะเป็นที่ 0.6 ส่วนงบการเงินที่ประกาศแล้วผ่านการสอบทานของผู้สอบบัญชีแล้ว เราอาจจะให้ความน่าจะเป็นที่ 0.95 เป็นต้น
ความน่าเชื่อถือของข้อมูล ถือเป็นเรื่องสำคัญมากในตลาดหุ้น เพราะระดับความน่าจะเป็นที่ไม่เท่ากัน นำมาซึ่งความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน นักลงทุนจำเป็นต้องไปปรับในการประเมินมูลค่าหุ้นที่ตนจะไปประยุกต์ใช้
เช่น บริษัท A ถูกซื้อขายที่ PE ย้อนหลัง 10 เท่า โดยคาดว่ากำไร ณ สิ้นปีนี้จะเท่ากับ 250 ล้าน
หากประเมินมูลค่าแต่ “เนื้อข้อมูล” เราจะให้มูลค่าของ A อยู่ที่ 2,500 ล้าน หรือเท่ากับกำไรคูณกับค่าพีอี
หากมองลึกไปถึง “ความน่าเชื่อถือของข้อมูล” สมมติว่าบริษัท A เป็นบริษัทโรงไฟฟ้าที่มีรายได้สัมปทานที่ค่อนข้างแน่นอน มีสัญญาซื้อขายไฟล่วงหน้าเรียบร้อยแล้วจำนวนมาก ไม่มีการขยายกำลังการผลิตใหม่ เราอาจจะให้ความน่าเชื่อถือของข้อมูลสูงถึง 0.9 แบบนี้เราอาจจะปรับมูลค่าลดทอนความเสี่ยงเหลือสัก 2,500 x 0.9 หรือ 2,250 ล้าน
หรือถ้าบริษัท A เป็นบริษัทผลิตยางมะตอยที่มีความผันผวนสูงมาก รายได้ขึ้นกับราคายางมะตอยโลก ส่วนต้นทุนก็ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันเป็นหลัก คาดการณ์ยาก ความแน่นอนของข้อมูลต่ำ เราอาจจะให้ความน่าเชื่อของข้อมูลอยู่ที่สัก 0.5 แบบนี้เราอาจจะปรับมูลค่าลดทอนความเสี่ยงเหลือสัก 2,500 x 0.5 หรือ 1,250 ล้าน
ความน่าเชื่อถือของข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะนำไปถึงโครงสร้างในการประเมินมูลค่า และการกำหนดค่าส่วนเผื่อความปลอดภัย หรือ Margin of Safety ที่เหมาะสมให้กับการประเมินมูลค่าหุ้น
ครั้งหน้าอ่านข้อมูลอะไร อย่าลืมถามตัวเองกันว่า… ความน่าเชื่อถือของข้อมูลนี้มีค่าประมาณเท่าไหร่?
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :