การลงทุน

สอนมือใหม่ประเมินมูลค่าหุ้น ตอน DCF

สอนมือใหม่ประเมินมูลค่าหุ้น ตอน DCF

สอนมือใหม่ประเมินมูลค่าหุ้น ตอน DCF

 

DCF หรือการคิดลดกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow) เป็นตัวเลขที่แสดงถึงมูลค่าความถูกแพงของกิจการ โดยการคิดลดกระแสเงินสดจัดเป็นการประเมินมูลค่าแบบสมบูรณ์ (absolute valuation) หมายถึงตัวเลขที่ได้เป็นตัวเลขที่สมบูรณ์ในตัวเองที่สามารถบ่งบอกถึงมูลค่าของกิจการได้โดยไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับกิจการอื่นใด

 

การประเมินมูลค่าหุ้นด้วยการคิดลดกระแสเงินสด คือ การนำกระแสเงินสดอิสระ (กระแสเงินสดที่ผู้ถือหุ้นได้จากกิจการ) นำมาคิดลดด้วยต้นทุนของเงินทุนกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน รวมเป็นมูลค่ากิจการ โดยหลักการคิดจะเป็นแบบเดียวกับ DDM ซึ่งจะเป็นการคิดลดมูลค่าเงินไปถึงเงินในระยะอนันต์

 

สอนมือใหม่ประเมินมูลค่าหุ้น ตอน DCF

 

โดยปรกติการประเมินมูลค่าด้วยการคิดลดกระแสเงินสดจะซับซ้อนมาก เพราะต้องกระจายการคิดกระแสเงินสดในช่วงระยะเวลาประมาณ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งมีรายละเอียดซับซ้อนและประกอบด้วยสมมติฐานจำนวนมาก ต่อมาจึงมีการปรับสูตรการประเมินมูลค่า DCF ให้เรียบง่ายมากขึ้นจนกลายเป็นสูตรของ Earning Power Value (EPV) ตามหนังสือ From Graham to Buffett and Beyond ซึ่งจะตั้งสมมติฐานคล้ายการประเมินมูลค่าแบบ DDM

 

EPV = FCF(1+g)/(k-g)

 

โดยตัวแปรแต่ละตัวมีความหมายดังนี้

 

EPV = มูลค่าพื้นฐานของกิจการตามวิธี EPV

 

FCF = กระแสเงินสดอิสระ (กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน – เงินลงทุนในสินทรัพย์ถาวร)

 

K แทนผลตอบแทนที่คาดหวังจากการลงทุนต่อปี

 

ค่า K มีเบื้องหลังแนวคิดที่ซับซ้อน โดยอาจจะคำนวณได้จากทฤษฎีทางการเงินชื่อดังอย่าง CAPM (Capital Asset Pricing Model) แต่สำหรับมือใหม่ แนะนำให้เปรียบเทียบจากค่าเสียโอกาสของนักลงทุน ซึ่งในที่นี่อาจหมายถึงผลตอบแทนจากการลงทุนในดัชนีเฉลี่ย 40 ปีย้อนหลัง (ค่าประมาณ 10%)

 

G แทนอัตราการเติบโตของเงินปันผลจนถึงระยะเวลาอนันต์

 

ค่า G คือการเติบโตของเงินปันผล หรือกำไรของกิจการไปจนถึงระยะเวลาอนันต์ ดังนั้น ค่า G นี้ควรจะมีค่าไม่มากเกินไปกว่าการเติบโตของ GDP โลกในระยะยาว บวกกับค่าอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว (ค่าประมาณไม่เกิน 5%)

 

โดยวิธีนี้ยังมีความซับซ้อนมากอยู่ดี เนื่องจาก FCF คำนวณมาจากกระแสเงินสดอิสระที่หมายถึงกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานหักออกด้วยเงินลงทุนที่นำมาซึ่งการเติบโตในอนาคต ต่อมาจึงมีการปรับการประเมินมูลค่าโดยการตัดผลจากเงินลงทุนในอนาคตออก และมาปรับสูตรให้ไม่คำนึงถึงการเติบโตแทน ดังนั้นค่ากระแสเงินสดที่นำมาใช้จึงเป็นกระแสเงินสดจากกิจการดำเนินงานแทนกระแสเงินสดอิสระ

 

EPV = CFO/k

 

โดยเบื้องต้น วิธี EPV ที่เป็นวิธีย่อจาก DCF นั้นมีการตัดประเด็นการใช้สมมติฐานที่ซับซ้อนออกไป ทำให้การประเมินมูลค่านั้นง่ายและไม่ซับซ้อน แต่แน่นอนว่าวิธีที่ย่อลงก็อาจจะไม่ได้สามารถสะท้อนทุกแง่มุมได้เท่ากับ DCF

 

ยกตัวอย่างหุ้น TNH ในปี 2557

 

ข้อมูลพื้นฐาน กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน 252 ล้านบาท หนี้สินของกิจการ 235 ล้านบาท ผลตอบแทนที่คาดหวังต่อปี 10% ต่อปี

 

ประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธี EPV

 

EPV = CFO/k = 252m/0.1 = 2,520 ล้านบาท

 

มูลค่าที่ได้จาก EPV จะเป็นมูลค่าของทั้งกิจการ หากจะคำนวณเฉพาะส่วนของผู้ถือหุ้นที่นักลงทุนได้รับจะต้องหักหนี้สินออก ดังนั้น มูลค่าพื้นฐานกิจการในส่วนของผู้ถือหุ้นในกรณีนี้คือ 2,520 – 235 = 2,285 ล้านบาท

 

ในกรณีที่นักลงทุนสามารถเข้าใจถึงสมมติฐานและแบบจำลอง DCF ได้ชัดเจนมากขึ้นแล้ว นักลงทุนก็สามารถใส่ผลที่เกี่ยวข้องจากเงินลงทุนและการเติบโตเข้าไป เพื่อให้ได้รับผลลัพธ์ที่สมเหตุสมผลมากขึ้น

 

***ตัวอย่างข้างต้นนี้เป็นการแสดงตัวอย่างในการคำนวณการประเมินมูลค่าเบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถใช้ในการแนะนำการซื้อถือขายได้ การคำนวณดังกล่าวใช้เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา และใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นในอดีตแล้วเท่านั้น***

 

DCF ถือเป็นวิธีการที่ประเมินมูลค่าหุ้นที่ถูกต้องที่สุด แต่เป็นวิธีที่ทำได้ยากที่สุด เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่นักลงทุนจะสามารถใส่สมมติฐานได้อย่างถูกต้องได้ เพราะปัจจัยแวดล้อมในการลงทุนมีเยอะมากจนการทำ DCF นั้นค่อนข้างยาก และอาจจะลองหันไปลองวิธีที่ย่อและสรุปแทน

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน