การลงทุน

ซื้อ LTF เท่าไหร่ถึงจะคุ้มที่สุด

ซื้อ LTF เท่าไหร่ถึงจะคุ้มที่สุด

ทุกครั้งที่ถึงฤดูกาลซื้อ LTF เพื่อลดหย่อนภาษี คำถามหนึ่งที่กวนใจคือ ซื้อ LTF เท่าไหร่ถึงจะคุ้มที่สุด ซื้อมากไปก็กลัวเงินจม แต่ซื้อน้อยไปก็กลัวไม่คุ้ม บทความนี้จะเล่าถึงหลักการง่ายๆ กัน

 

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าเพดานการซื้อ LTF ของเราคือเท่าไหร่

 

เพดานการใช้สิทธิซื้อ LTF คือ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท

 

ขีดเส้นใต้ว่าเงินได้ที่ไม่ได้ยื่นเสียภาษีก็สามารถนำมาคำนวณเพิ่มเพดานของ LTF ได้ เช่น เงินปันผลและดอกเบี้ยที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไปเรียบร้อยแล้ว เป็นต้น

 

สิ่งต่อมาคือหากเรายังไม่อยู่ในฐานเงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี การซื้อ LTF จะไม่คุ้มเลย

 

ในกรณีที่คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วตกฐานเสียภาษี 0% หรือมีเงินได้สุทธิอยู่ที่ไม่เกิน 150,000 บาท แบบนี้แปลว่าถึงแม้ว่าเราจะซื้อ LTF แต่เราก็ไม่ได้การลดหย่อนภาษีเลย เราจะเสียสภาพคล่องในเงินลงทุนไปฟรีๆ หากสนใจอยากลงทุน ควรไปซื้อกองทุนธรรมดามากกว่า ซึ่งไม่ว่าเราจะใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีหรือไม่ แต่เราก็ต้องทำตามเงื่อนไขการถือครองเสมอ

 

ปัญหาข้อนี้เจอบ่อยในคนเริ่มทำงานหรือย้ายงาน ที่ไม่มีรายได้ในบางเดือน ทำให้ฐานรายได้ไม่ถึงที่ต้องเสียภาษี แต่รีบซื้อ LTF ไปหรือซื้อไปตามความเคยชิน ตรงนี้ก็อาจจะเสียสภาพคล่องไปได้ เราควรวางแผนก่อนซื้อเสมอ โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน ไม่ต้องรีบร้อน

 

ในกรณีที่ซื้อแล้วได้ลดหย่อนตามปรกติ แนะนำให้ดูความคุ้มค่าจากผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับเทียบกับต้นทุนของเงินทุน

 

ผลตอบแทนจากการลงทุนใน LTF อาจประมาณได้จากผลตอบแทนของตลาดหุ้นในระยะยาวบวกกับผลตอบแทนจากการลดหย่อนภาษี

 

เช่น

ประมาณผลตอบแทนตลาดหุ้นระยะยาวอยู่ที่ 6% ต่อปี

ซื้อ LTF ลดหย่อนภาษีจากฐาน 20%

เฉลี่ย 5 ปี เทียบเท่ากับได้ลดหย่อนภาษีปีละ 4% (ซื้อปลายปีขายต้นปีให้ครบ 7 ปีปฏิทิน)

แบบนี้ผลตอบแทนรวมจะอยู่ที่ 10% ต่อปี

 

ผลตอบแทนตรงนี้ต้องนำมาเทียบกับต้นทุนทางการเงินที่เกิดขึ้น

 

ต้นทุนที่สำคัญของการซื้อ LTF คือปัญหาเรื่องการขาดสภาพคล่อง

 

ยกตัวอย่างเช่น

 

ถ้าเราเป็นคนมีเงินเก็บเพียงพอต่อยามฉุกเฉิน (เงินเก็บประมาณ 6 – 12 เดือนของค่าใช้จ่ายต่อเดือน)

 

ในกรณีที่เราต้องการใช้เงินเร่งด่วน เราอาจต้องไปถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำที่ให้ดอกเบี้ย 1.5% แบบนี้การซื้อ LTF ก็ค่อนข้างคุ้มเพราะผลตอบแทนดีกว่าต้นทุนของเงินทุนมาก อาจซื้อจนเต็มเพดาน

 

แต่ในกรณีที่เราไม่มีเงินเก็บไว้ยามฉุกเฉินเลย (ซื้อ LTF หมดก็เหลือใช้เงินเดือนชนเดือนพอดี)

 

ในกรณีที่เราต้องการใช้เงินเร่งด่วน เราอาจต้องไปกดเงินสดจากบัตรกดเงินสดที่คิดดอกเบี้ย 20.0% แบบนี้การซื้อ LTF ก็อาจจะไม่คุ้ม เพราะผลตอบแทนน้อยกว่าต้นทุนของเงินทุนที่อาจจะเกิดขึ้น เราอาจไม่ซื้อ LTF และเก็บเงินเพื่อให้มีเงินสำรองฉุกเฉินก่อน

 

หัวใจสำคัญคือ LTF ควรซื้อเท่าที่เรายังเหลือสภาพคล่องในระดับเหมาะสม

 

เราควรซื้อ LTF ในระดับที่เราสามารถเหลือเงินหมุนยามฉุกเฉิน เช่น 6 – 12 เดือนของค่าใช้จ่ายต่อเดือน หรือเหลือเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตได้

 

ในกรณีที่ซื้อจนหมดสภาพคล่อง เราจะเกิดต้นทุนของเงินทุนขึ้นอย่างแน่นอน เช่น กดเงินสดมาหมุน ติดหนี้บัตรเครดิต กู้เงินมาใช้ในธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น ซึ่งต้นทุนดังกล่าวก็แปรเปลี่ยนไปตามบุคคล เราควรวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนด้วยตนเอง

 

ขีดเส้นใต้สำคัญคือ การลงทุนใน LTF คือการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งตลาดหุ้นมีความเสี่ยง นักลงทุนควรเข้าใจประเด็นความเสี่ยงให้ถี่ถ้วนเสียก่อน เพราะจะมีผลทั้งการประมาณการณ์ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ หรือเราอาจจะขาดทุนมากกว่าภาษีที่ลดหย่อนไปก็เป็นได้

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน