การลงทุน

นักลงทุนหาหุ้นจากไหน : วิธีการหาหุ้นแนวปัจจัยพื้นฐาน

นักลงทุนหาหุ้นจากไหน

หลายคนที่เป็นมือใหม่หรือมือไม่ใหม่ก็มักจะเกิดคำถามบ่อยๆ ว่า นักลงทุนหาหุ้นจากไหน หุ้นตลาดมีตั้งห้าร้อยหกร้อยตัว เราจะสามารถหาหุ้นที่พื้นฐานดีอย่างไรได้บ้าง วันนี้ผมจึงนำวิธีการหาหุ้นแนวปัจจัยพื้นฐานมาฝากกัน

 

ผมขออธิบายวิธีของผมที่ผมใช้เองให้ลองดูกัน ชอบวิธีไหนลองไปประยุกต์ใช้ดูได้ โดยวิธีแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักดังนี้ คือ top-down กับ bottom-up

 

1. top-down คือ การมองจากภาพใหญ่ลงมาหาภาพย่อย ส่วนใหญ่คือการมองจากปัจจัยระดับประเทศ ระดับอุตสาหกรรม ไปจนถึงระดับบริษัท วิธีนี้มักจะให้ภาพที่เป็นองค์รวมกว่า ได้หุ้นในกลุ่มที่ใกล้เคียงกันและเปรียบเทียบกันได้ง่าย

 

1.1 ดูจาก mega trend

 

เราเริ่มมองดูจากปัจจัยระดับประเทศก่อนว่ากลุ่มอุตสาหกรรมไหนบ้างที่จะได้ประโยชน์ในแนวโน้มประเทศในทศวรรตหน้า เช่น เทรนด์ 4G เทรนด์สังคมผู้สูงอายุ เทรนด์ AEC ก่อนจะไปวิเคราะห์แยกย่อยรายอุตสาหกรรมว่ามีบริษัทไหนบ้างที่จะได้ประโยชน์มาก หรือพื้นฐานบริษัทมีความแข็งแกร่งเหมาะกับการลงทุน

 

1.2 ดูจากอุตสาหกรรมที่ถนัด

 

เราเริ่มมองจากรายอุตสาหกรรมที่เราถนัดเพราะจะวิเคราะห์ได้ง่าย ซึ่งเราก็ควรจะลงทุนในสิ่งที่เราเข้าใจและสนใจจริงๆ อย่างเช่นตัวผม ผมเลือกวิเคราะห์หุ้นกลุ่มบริการเป็นอันดับแรก เพราะตรงกับสายที่เรียนมาและยังมีความชอบเป็นพิเศษอีกด้วย

 

2. bottom-up คือ การมองจากภายเล็กขึ้นไปหาภาพใหญ่ ส่วนใหญ่คือการเลือกบริษัทที่ดูน่าสนใจ แล้วเริ่มต้นวิเคราะห์ใหม่จากปัจจัยระดับประเทศไล่ลงมาอีกครั้งโดยอิงกับบริษัทนั้น วิธีนี้จะมีประโยชน์กับธุรกิจหรือบริษัทที่มีความโดดเด่นอยู่ในอุตสาหกรรมที่น่าเบื่อ เพราะถ้าเรามองแต่ top-down เราอาจจะคัดไว้ทีหลังของการลงทุนจนสูญเสียโอกาสดีๆ ไป

 

2.1 ดูจากรายชื่อหุ้นในดัชนี้อุตสาหกรรม

 

เลือกหุ้นจากดัชนีที่มีการจัดไว้แล้ว เช่น ดัชนี SET50 SET100 SETHD MSCI เป็นต้น โดยส่วนใหญ่หุ้นในดัชนีเหล่านี้มักจะมีขนาดใหญ่และน่าสนใจ ไม่ผันผวนต่างจากตลาดมาก เหมาะกับการเริ่มต้นศึกษาในระยะแรก

 

2.2 ดูจากรายชื่อที่ได้มาจากงานสัมมนาต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ

 

เลือกหุ้นจากงานสัมมนาหรือรายการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่น่าเชื่อถือมาวิเคราะห์ต่อเป็นรายตัวไป เช่น SET in the CITY MONEY TALK เป็นต้น เพราะหุ้นเหล่านี้มักมีความน่าสนใจและธรรมาภิบาลดีในระดับหนึ่งจนถึงขั้นนำมาแนะนำต่อได้

 

2.3 อ่านจากข่าวหรือกระแสในสังคม

 

เลือกหุ้นจากข่าวหรือกระแสที่น่าสนใจ ควรเลือกจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ แต่ถึงแม้มาจากข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ ก็ศึกษาได้ แต่ต้องละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้นเพื่อลดอคติลง

 

2.4 เดินดูจากผลิตภัณฑ์จริง

 

ลองเดินไปดูตามห้างสรรพสินค้า หรือเวลาเดินทางไปไหนมาไหนลองดูป้ายโฆษณาต่างๆ ว่ามีหุ้นไหนที่ขายสินค้าหรือบริการอยู่ในชีวิตประจำวันบ้าง วิธีนี้จะให้ภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเราได้เห็นกิจการจริง เวลาไปวิเคราะห์งบหรือธุรกิจต่อจะเข้าใจง่าย

 

2.5 สแกนจากงบหรือพารามิเตอร์ต่างๆ

 

หลายเว็บหรือแอพพลิเคชันมีเครื่องมือช่วยสแกนหุ้น โดยเราอาจจะกำหนดค่าสำคัญต่างๆ เช่น P/E , ROE , EPS เป็นต้น เราจะพอได้หุ้นพื้นฐานดีมาคร่าวๆ จำนวนหนึ่ง ซึ่งก็นำมาแกะต่อรายตัวได้

 

ทั้ง 2 วิธีหลัก 7 วิธีย่อยเป็นเพียงวิธีคร่าวๆ สำหรับผู้เริ่มต้นเท่านั้น แต่ถ้าทำซ้ำไปเรื่อยๆ เราก็จะพบว่าเราได้รู้จักหุ้นเพิ่มขึ้นมหาศาลอย่างไม่รู้ตัว

 

ส่วนวิธีที่ผมใช้ คือ การนำสรุปธุรกิจในใบสารสนเทศของทุกบริษัทมานั่งอ่านทีละตัว เลือกเฉพาะธุรกิจที่น่าสนใจ ก่อนจะนำมาวิเคราะห์ธุรกิจและงบต่อในภายหลัง ตอนแรกอาจจะคัดหุ้นมาได้สัก 150 ตัว พอวิเคราะห์ธุรกิจลึกๆ อาจจะเหลือแค่ 100 ตัว พอมาวิเคราะห์งบการเงินต่ออาจจะเหลือ 50 ตัว ที่เหลือก็มาประเมินมูลค่าหุ้นทั้ง 50 ตัวนั้นเพื่อรอจังหวะราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานเพื่อรอเข้าซื้อ

 

พอทำงานหลักเสร็จแล้ว ก็ค่อยๆ วิเคราะห์หุ้นรายตัวที่น่าสนใจต่อไปเพื่อเพิ่มจำนวนหุ้นในคลังให้มากขึ้น จากข่าวบ้าง จากเพื่อนบ้าง จากสัมมนาบ้าง แกะไปเรื่อยๆ ลองแกะงบหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าเบื่อบ้าง สุดท้ายแล้วรู้ตัวอีกที ผมก็รู้จักหุ้นหลายร้อยตัวแล้ว

 

อ่านมาถึงตรงนี้อ่านจะดูเยอะดูยาก แต่เชื่อเถอะว่าการลงทุนที่แท้จริงไม่มีทางลัดหรอก อดทนฝึกฝนพยายาม ผลลัพธ์ที่ได้มาคุ้มค่าความเหน็ดเหนื่อยแน่นอน

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน